อัพเดตสถานการณ์ การชุมนุมของมวลชนกลุ่มคณะราษฎร 2563 ในวันนี้ (16 ตุลาคม) ต่อเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 และ 15 ตุลาคม แม้จะเป็นการชุมนุมที่ไม่มีการพักค้างคืน แต่ก็มีการนัดหมายชุมนุมกันต่อเนื่องทุกวัน วันนี้ล่วงเข้าวันที่สาม ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มผู้ชุมนุม ยังคงเป็น 3 ข้อได้แก่ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี 2) รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และ 3) ปฏิรูปสถาบันฯให้กลับมาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตย
โดยหลังจากที่การชุมนุมวันแรกจนถึงเมื่อวานนี้ มีการจับกุมแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมแล้วกว่า 40 คน ฝ่ายผู้ชุมนุมจึงได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมไปแล้วด้วย
ก่อนที่การชุมนุมจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในเวลา 17.00 น. วันนี้ เราขอประมวลเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังมวลชนสลายการชุมนุมบริเวณ 4 แยกราชประสงค์ในเวลา 22.00 น. เมื่อคืนวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา
15 ต.ค. 2563
22.00 น. หลังจากมวลชนกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) จำนวนกว่า 10 นาย พร้อมด้วยสุนัขตำรวจ k-9 ได้เข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยบริเวณแยกราชประสงค์ เริ่มเข้าตรวจตั้งแต่แยกอังรีดูนังต์ ผ่านหน้าด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาจนถึงแยกราชประสงค์ รวมไปถึงศาลท้าวมหาพรหม และบนถนนราชดำริ ซึ่งผลการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ ไม่พบวัตถุต้องสงสัย จากนั้นพนักงานทำความสะอาดของสำนักกรุงเทพมหานคร พร้อมกับรถขยะ ได้เข้ามาดำเนินการกวาดเศษขยะจำนวนมากบนถนนพระราม1 และถนนราชดำริ ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม
22.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ ตะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริ ว่า มีจำนวนกว่า 10,000 คน และในการดูแลการชุมนุมดังกล่าว ตำรวจได้ใช้กำลัง 15 กองร้อย หรือ 2,325 นาย ดูแลความเรียบร้อยของการชุมนุม ซึ่งถือว่าผ่านไปได้ด้วยดีไม่เกิดการวุ่นวายหรือกระทบกระทั่งกัน
แต่เนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ที่มีผลตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ต.ค. ดังนั้นถือว่าความผิดเกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่มาชุมนุมจะต้องถูกดำเนินคดีทุกราย ซึ่งตำรวจได้มีการบันทึกภาพและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานไว้หมดแล้ว ส่วนจะมีการดำเนินคดีเมื่อไรอย่างไรก็จะต้องมีการพิจารณา
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ฝากถึงประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่า “ขอให้คิดให้รอบคอบ เนื่องจากหากมีการกระทำความผิดและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจะมีประวัติติดตัวและมีผลกระทบต่อไปในอนาคต” ทั้งนี้ ประชาชนที่จะนำรถบรรทุกน้ำ อาหาร หรือรถขยายเสียงเข้ามาในพื้นที่ ในวันที่ 16 ต.ค. จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
- - - - - - - - - - -
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุว่า แกนนำที่ถูกควบคุมตัว 22 ราย แบ่งเป็นแกนนำที่ถูกจับกุมตามหมายจับ 4 ราย แบ่งเป็นศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คน และศาลจังหวัดเชียงใหม่ 2 คน ผิดมาตรา 116 ส่วนผู้ชุมนุม 18 คน ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า โดยนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังในวันที่ 16 ต.ค.
จากการตรวจสอบพื้นที่ชุมนุมพบว่า มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้พังกำแพงสกายวอล์ค (Sky Walk) ทางเชื่อมระหว่างห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โรงพยาบาลตำรวจ มุ่งหน้าบีทีเอสสยาม การกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดเนื่องจากเป็นการกระทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันทำให้ทรัพย์สินเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมนำกระดาษไปติดกล้องวงจรปิดอีกด้วย
กรณีผู้ชุมนุมกดดันให้มีการปล่อยตัวแกนนำที่ถูกที่หน้านั้น ตำรวจชี้แจงว่า การปล่อยตัวแกนนำต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนตามกฎหมาย หากไม่ทำผิดก็จะไม่ถูกดำเนินคดี หลังจากนี้ก็ว่าไปตามกระบวนยุติธรรม
23.30 น. การจราจรบนถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ และแยกราชประสงค์ กลับมาใช้งานได้ตามปกติตั้งแต่เวลา
- - - - - - - - - -
16 ตุลาคม 2563
07.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 00.24 น. มีประชาชนจำนวน 6 คน ถูกควบคุมตัวไปที่ ตชด. ภาค 1 หลังเข้าร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยในจำนวนนี้ เป็นชาย 5 คน และ หญิง 1 คน ทั้งหมดเป็นลูกจ้างบริษัทให้เช่าเครื่องเสียงที่นำมาปราศรัยในเวทีชุมนุม โดยเดินทางมาจากอยุธยา เพื่อเก็บสิ่งของและกำลังเตรียมตัวกลับก่อนถูกจับกุม
ด้านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า ในวันนี้ (16 ต.ค.) กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ ตชด.ภาค 1 จะถูกส่งตัวไปฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต และที่ศาลอาญา รัชดา โดยจะมีการยื่นขอประกันตัว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" และพวกอีกครั้ง ทั้งนี้ ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13-15 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วอย่างน้อย 45 คน
- - - - - - - - - -
11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลเข้าควบคุมตัวนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่บ้านพักในซอยลาดพร้าว 109 กรุงเทพมหานคร ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110
14.00 น. ตำรวจปิด 3 เส้นทางรอบแยกราชประสงค์ เพื่อรักษาความสงบและจัดระเบียบผู้เดินทางทั่วไปและกลุ่มผู้ชุมนุม ได้แก่ ถ.ราชดำริ (แยกราชดำริ ถึงแยกประตูน้ำ) ถ.พระราม 1 (แยกเฉลิมเผ่า ถึง แยกราชประสงค์)และถ.เพลินจิต (แยกราชประสงค์-แยกชิดลม) พร้อมแนะใช้ 12 เส้นทางเลี่ยงการเดินทาง ประกอบด้วย ถ.ราชปรารภ ถ.เพชรบุรี ถ.พญาไท ถ.พระราม 4 ถ.อังรีดูนังต์ ถ.สารสิน ถ.สีลม ถ.สาทร ถ.วิทยุ ถ.สุขุมวิท ซอยต้นสน และถ.หลังสวน
และเนื่องจากมีการปิดการจราจรดังกล่าว เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จึงได้แจ้งปรับเวลาการให้บริการของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยขอปิดให้บริการในเวลา 16.00 น. เพื่อความสะดวกในการเดินทางสัญจรของพนักงานบริษัท ร้านค้า และลูกค้าภายในศูนย์ฯ
- - - - - - - - - -
15.00 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินทีมีความร้ายแรง ได้ออกหนังสือคำสั่ง ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม อาคารหรือสถานที่ นอกจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น
เส้นทางที่ถูกห้าม ดังต่อไปนี้
- ถนนเพลินจิต จากแยกราชประสงค์ถึงแยกชิดลม
- ถนนราชดำริ จากแยกประตูน้ำถึงแยกราชดำริ
- ถนนพระราม 1 จากแยกราชประสงค์ ถึงแยกเฉลิมเผ่า
อาคารที่ถูกห้ามใช้ คือ
- สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริ ถึง สถานีไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม
- ทางเชื่อมระหว่างตึกหรือทางเดินระหว่างอาคารสูง (Sky Walk) ตั้งแต่บริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามถึงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพลินจิต
- ท่าเรือประตูน้ำ และท่าเรือเพลินจิต ทั้งสองฝั่ง
โดยมอบหมายให้ผู้บัญชาการนครบาลเป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแล สั่งการ และมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดูแล มีผลวันนี้ (16 ต.ค.) ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
- - - - - - - - - -
ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แจ้งว่า ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถเอกชนร่วมบริการ และรถตู้โดยสาร จะให้บริการรับ - ส่ง ประชาชน ถึงบริเวณป้ายหยุดรถโดยสาร ในรัศมี 5 กิโลเมตร ก่อนถึงแยกราชประสงค์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินรถผ่านพื้นที่การชุมนุมฯ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
- - - - - - - - - -
16.14 น. แฟนเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration และแฟนเพจ เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า “ยืนยันเปลี่ยนไปที่แยกปทุมวัน! พร้อมกันวันนี้ เวลา 17:00 น.!”
17.00 น. หลังจากที่ “คณะราษฏร 2563” ได้ประกาศผ่านโซเชียล มีเดีย ให้ย้ายสถานที่การชุมนุมจากบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ไปยังสี่แยกปทุมวัน โดยนัดหมายกันในเวลา 17.00 น. ทางด้านศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ได้ออกประกาศ แจ้งปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ลูกค้าทราบทันที
ด้านบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แจ้งปิดให้บริการชั่วคราว จากเดิม 2 สถานี คือ สถานีราชดำริ และสถานีชิดลม เพิ่มอีก 3 สถานี ได้แก่ สถานีสยาม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีราชเทวี รวมเป็น 5 สถานี ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป แต่สถานีอื่น ๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
- - - - - - - - - -
17.05 น. เจ้าหน้าที่ปิดช่องทางการจราจร ณ แยกปทุมวัน แนะให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเลี่ยงเส้นทาง และยังใช้รถขยายเสียงประกาศห้ามชุมนุมทั้งแยกราชประสงค์และแยกปทุมวัน อ้าง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยลงมายังพื้นผิวจราจรกลางแยกปทุมวัน
17.10 น. สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ และห้างสรรพสินค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ปิดให้บริการแล้ว เนื่องจากมีการชุมนุมของคณะราษฎร
(โปรดติดตามการอัพเดตสถานการณ์)