ในระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาเรื่องรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ในวาระที่ 1
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ญัตติ และร่างของภาคประชาชน ที่เสนอโดยไอลอว์ 1 ฉบับ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่า เบื้องต้น ส.ว.ขอเวลาในการอภิปรายทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยรัฐบาล ฝ่ายค้าน และร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ เป็นเวลา 5 ชั่วโมง คาดว่าการลงมติจะใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง รวมระยะเวลาการตั้งกรรมาธิการ และดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง
“ฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ได้มีการพูดคุยที่จะเดินหน้ารับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว เพราะทุกคนเข้าใจในปัญหา” ประธานวิปรัฐบาล ระบุ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเงื่อนไข 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของ “ม็อบคณะราษฎร”
ตีความร่างแก้รธน.รอก่อน
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุถึงขั้นตอนการลงคะแนนรับหรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้ง 7 ฉบับ ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงวุฒิสมาชิก 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง
ส่วนการพิจารณาบรรจุระเบียบวาระ ญัตติของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ประธานรัฐสภา กล่าวว่า จะพิจารณาบรรจุหลังการประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน รวมถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำประชามติของรัฐสภาด้วย
รัฐบาลหนุนร่างพรรคร่วม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.วบางส่วนยื่นตีความว่าการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของ ส.ส.ไม่ใช่ของ รัฐบาล หาก ส.ส.และ ส.ว.สงสัยจะยื่นตีความนั้นก็พูดในหลักการแล้วอย่าทำให้กระบวนการสะดุด และเท่าที่ดูก็ไม่สะดุดก็ทำไป เพราะเขาถือว่าไม่ทำตอนนี้ก็ทำในอนาคตต่อไปแล้วอาจจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหายเช่น ทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้
“เดาเอาว่าเขาอาจเจตนาดีเพราะไม่วันใดวันหนึ่ง มันก็ต้องส่งอยู่แล้ว เพราะการส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่าเพราะมันเป็นภาคบังคับ ถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ระบุว่า หากมีสมาชิกรัฐสภาสงสัย ก็มีสิทธิเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากส่งตอนนี้ อาจประหยัดเวลา 1 เดือนนั้นไป และเมื่อถึงตอนนั้นอาจไม่ต้องส่งก็ได้”
นายวิษณุ กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ มีการลงมติวาระ 1 หากผ่าน ก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากในเวลาดังกล่าว ส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จ เรื่องก็ไปอยู่ในศาลฯ หากศาลฯ บอกไม่ขัดก็หมดเรื่อง กระบวน การก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมาใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าเป็นเดือน กุมภาพันธ์ปีหน้า และยืนยันหากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด
นายวิษณุ ยังยอมรับด้วยว่า รัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล
สาระสำคัญฉบับไอลอว์
สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ อาทิ 1. ยกเลิกนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ของคสช. 3. ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่คนของคสช.
4. ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. 5. ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯ และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. 6. ให้ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และลดอำนาจพิเศษของ ส.ว. 7. ตั้งส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
จากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลคือ สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยสนับสนุนทั้งร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่วนฉบับของภาคประชาชน เชื่อว่าทั้งส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.คงไม่โหวตรับ
ในวันพุธที่ 18 พฤศจิกายนนี้ เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล น่าจะผ่านการลงมติรับหลักการ ส่วนฉบับของพรรคเพื่อไทย ยังต้องลุ้นว่า ส.ว.จะเทคะแนนให้หรือไม่
แต่ “ฉบับไอลอร์” คาดว่าคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.แน่นอน…
ฝ่ายค้านส่อรับทั้ง 7 ร่าง
ส่วนท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ว่า ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้วโดยจะพิจารณาและอภิปรายรายงานของกรรมาธิการศึกษาร่างแก้รัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการทั้ง 6 ร่าง จากนั้นจะพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งคาดว่าจะลงมติในวันที่ 18 พฤศจิกายน ตั้ง แต่ 19.00 น.
“ฝ่ายค้านยังไม่ยืนยันว่าจะโหวตรับทุกร่าง แต่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ และเชื่อว่าร่างของไอลอว์จะผ่านการเห็นชอบ เนื่องจากมีหลักการเดียวกันกับร่างของฝ่ายค้านและและของรัฐบาลในการแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.”'