16 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา(เกียกกาย) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภา เพื่อตรวจสอบการที่กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ได้อ้างรายชื่อประชาชนจำนวน 100,732 รายชื่อ ส่งให้รัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ก.ย.63 ที่ผ่านมา เพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.256(1) ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้วนั้น
เนื่องจากเมื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับรายชื่อจากตัวแทนไอลอร์มาดำเนินการตรวจสอบพบว่า ผู้ร่วมลงชื่อจริงมีเพียง 98,824 คนเท่านั้น ดังนั้น รายชื่อ 1,908 รายชื่อหายไปไหน และตามพรบ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีรายชื่อทั้ง 100,732 รายชื่อนั้น มีหลักฐานการแจ้งหรือไม่ อย่างไร และมีผู้ยืนยันกลับมายังสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จำนวนเท่าใด และครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากตามกฎหมายข้างต้นนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนต้องแจ้งไปยังผู้ที่มีรายชื่อเข้าร่วมกันทั้งหมด ทุกคน เพื่อให้ผู้ที่เข้าชื่อที่แท้จริงยืนยันกลับมายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และหากตรวจพบว่าผู้ที่มีรายชื่อเหล่านั้นเป็นรายชื่อปลอม ตามกฎหมายข้างต้นได้บัญญัติโทษไว้ใน ม.14 ว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิระ"ประกาศคว่ำร่างแก้รธน.ฉบับไอลอว์ ชี้ มีวาระซ่อนเร้น
รัฐบาลขานรับ-พร้อมพิจารณาข้อเสนอแนะจากทูต 5 ประเทศ
"อลงกรณ์"ห่วงวิกฤติการเมือง ชงแนวทางสมานฉันท์-แก้รธน.
เปิด 3 ข้อหา "ม็อบคณะราษฎร" ชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
“ผู้ใดลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร หรือใช้ หรืออ้างลายมือชื่อปลอมเช่นว่านั้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ที่สำคัญเหตุใดการตรวจสอบผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่นำโดยนายจอน อึ้งภากรณ์ และคณะจำนวน 100,732 รายชื่อ จึงทำการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการตรวจสอบการมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา มีประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญในอดีตไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ จึงล่าช้าอย่างมากต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีในการตรวจสอบรายชื่อ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีนี้ จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องเดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อขอตรวจสอบหลักฐานการแจ้งและการยืนยันรายชื่อของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และมีผู้ใดลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร หรือใช้ หรืออ้างลายมือชื่อปลอมหรือไม่ เพื่อที่จะได้เร่งรัดให้รัฐสภาหรือสภาผู้แทนฯ ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีเอากับผู้ริเริ่มการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต่อไป และหากการตรวจสอบรายชื่อไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงานเลขาธิการสภาฯไม่มีสิทธิที่จะนำร่างแก้ไขฉบับไอลอร์เสนอเข้าพิจารณาในสภาโดยเด็ดขาด นายศรีสุวรรณ ระบุ