ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา และได้มีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ในวันที่ 18 พ.ย. 2563
แน่นอนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดย ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล จะเป็นร่างหลักในการพิจารณาแก้ไข
สำหรับกระบวนการและขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจใช้เวลาราว 20 เดือน หรือระหว่าง 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี ถึงจะได้ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ไทม์ไลน์คร่าวๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นดังนี้ วันที่ 18 พ.ย.2563 เมื่อที่ประชุมรัฐสภารับหลักการ วาระ 1 แล้ว จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณาประมาณ 15 วัน ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม รัฐสภาอีกครั้ง ราววันที่ 8-9 ธ.ค. 2563 เพื่อพิจารณาวาระ 2
และเมื่อผ่านวาระ 2 ก็จะทอดเวลาไป 15 วัน คือจนถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2563 เพื่อให้สมาชิกรัฐสภามีเวลาตัดสินใจในการโหวตรับ-ไม่รับร่างแก้ไข
ถัดไปราวปลายเดือน ก.พ.2564 จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำ “ประชามติ” ครั้งแรก ภายใน 60 วัน เสร็จแล้วนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีเวลาพิจารณาภายใน 90 วัน ก่อนที่จะประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ประมาณต้นเดือน มิ.ย.2564
ต่อไปก็เป็นกระบวนการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ภายใน 45 วัน หรือราวกลางเดือน ก.ค. 2564 หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8 เดือน เสร็จกลางเดือน มี.ค. 2565
เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้ว ก็ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม “รัฐสภา” พิจารณาอีกครั้ง ในวาระ 3 ประมาณสิ้นเดือน เม.ย. 2565 หากผ่านการรับรองจากรัฐสภา ก็จะนำไปสู่การลง “ประชามติ” โดยประชาชนทั้งประเทศอีกครั้ง ภายใน 2 เดือน หรือภายในสิ้นเดือน มิ.ย.2565
ถัดไปเป็นขั้นตอนการนำ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาเมื่อใด ภายใน 90 วัน หรือราวปลายเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นเวลาเร็วที่สุดที่ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” จะประกาศใช้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจจะลดเวลาลงไปได้ 2 เดือน ถ้าไม่มีการทำ “ประชามติ” ในครั้งแรก แต่มาทำครั้งเดียว เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านที่ประชุมรัฐสภาแล้วในวาระ 3
อันจะทำให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประมาณเดือน ก.ค. 2565
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ระบุว่า สาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ประเด็นหลักที่จะแก้ไขคือ แก้ไขมาตรา 256 และให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2
ก่อนหน้านั้น นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยออกมาแสดงจุดยืนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วควรยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ว่า เป็นประเพณีปฎิบัติที่ทำกันมาตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะหากมีรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์แล้วควรต้องรีบใช้ให้เร็วที่สุด ทุกอย่างเป็นไปตามการเมืองระบอบประชาธิปไตย
“ยืนยันไม่มีความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาล วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน มีแนวทางเดียวกัน เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน”
นายอนุทิน ยํ้าว่า เรื่องนี้ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว. และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว ถือเป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองที่มีแนวคิดและจุดยืนของพรรค ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของรัฐบาล มันคนละเรื่องกัน”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,628 หน้า 12 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน 2563