ใน การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 98,041 คน เข้าชื่อเสนอร่วมกับ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ผู้แทนภาคประชาชน ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ได้ชี้แจงหลักการต่อที่ประชุม เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่ของไอลอว์ แต่เป็นของประชาชนเกือบ 1 แสนคนที่ร่วมลงชื่อภายในเวลา 1 เดือน ได้รับรอง 98,824 ชื่อ
เหตุที่ประชาชนจำนวนมากกระตือรือร้นที่จะลงชื่อก็เพราะประชาชนอยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบเพื่อให้ คสช.ยังคงอำนาจอยู่แม้หลังจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เห็นได้ชัดว่าผู้นำ คสช.เป็นรัฐมนตรีหลายคน แม้รัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เป็นเรื่องโกหก ถือเป็นโมฆะ เพราะความจริงไม่ใช่ ประชาชนมีสิทธิแค่เลือกผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีโอกาสกำหนดว่าใครจะมาตั้งรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีองค์ประกอบส่วนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชนเข้ามาเป็นตัวกำหนด
ส่วนกรณีที่มองว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และ 2 ก็ขอชี้แจงว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แล้วจะไปกำหนดว่าไม่ให้แตะหรือไม่ให้แก้หมวดใดหมวดหนึ่ง จึงเป็นหลักการที่ขัดแย้งกัน ซึ่งต้องเชื่อในหลักการประชาธิปไตย และเชื่อว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จะมีความหลากหลายไม่ต่างจากรัฐสภาแห่งนี้
"การเมืองมีปัญหา เพราะผู้มีอำนาจไม่ไว้ใจประชาชน จึงได้เกิดรัฐประหารบ่อย และกว่า 1 แสนรายชื่อที่เสนอร่าง มีความคิดเห็นหลากหลาย ส่วนกรณีข้อครหาว่าไอลอว์เป็นองค์กรที่รับเงินจากต่างประเทศ ก็ไม่ได้แปลว่าองค์กรจะถูกชี้นำหรือบงการ ซึ่งผมรับรองได้ในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มไอลอว์"นายจอนกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด้านนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ร่วมเสนอร่างของกลุ่มไอลอว์ กล่าวว่า ตนเองในฐานะที่อยู่ในวงการองค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 30 ปี เห็นว่าหลายองค์กรเกิดขึ้นเพราะเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาสังคมและไม่ได้อยากจะไปรับเงินต่างชาติ หากองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐมีความเป็นอิสระและใจกว้างเพียงพอ ที่จะอนุมัติงบประมาณให้องค์กรที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐ แต่สิ่งนี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
"จึงทำให้องค์กรต้องแสวงหาแหล่งที่พร้อมจะสนับสนุนด้านงบประมาณ แต่ไม่ได้เป็นการรับจ้างทำงาน หากแต่เป็นการเสนอสิ่งที่อยากทำ ซึ่งหากแหล่งทุนเห็นชอบก็ได้รับการสนับสนุน” นางสาวจีรนุช กล่าว พร้อมยืนยันว่าการรับทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส การระบุว่าทางองค์กรรับเงินต่างชาติเพื่อให้ต่างชาติแทรกแซง จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง และข้อกล่าวหานี้ควรจะจบไปได้แล้ว
ส่วนนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการตอนหนึ่งว่า ได้นำความฝันไปนำเสนอสู่สาธารณะ ก็มีคนที่เห็นด้วยและมาช่วยกันเข้าชื่อถึง 100,732 คน ภายในเวลาเพียง 43 วัน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัว และความต้องการของสังคมที่แพร่กระจายไปทั่วในปัจจุบัน ความฝันของพวกเขามี 5 ข้อ คือ 1.ฝันว่าจะมีการปกครองที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยด้วยการเลือกทางอ้อมผ่านสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชนทุกคน 2.ฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลโปร่งใส และถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องมีที่มาเป็นอิสระจากคนที่ใช้อำนาจตรวจสอบ 3.ฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเอง โดยผู้สมัครเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายว่า จะพาประเทศไปทางไหน และประชาชนมีสิทธิเปลี่ยนใจได้ทุก ๆ อย่างน้อย 4 ปี 4. ฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ระบบยุติธรรมเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการยกเว้นความผิดให้กับใคร ไม่ว่าจะมีอำนาจหรือใหญ่โตมาจากไหน และ 5.ฝันว่าจะอยู่ในกติกาสูงสุดที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขียนขึ้นโดยประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วม อย่างน้อยการยกร่างต้องมีที่ทางจากประชาชนทุกคน ภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัย เปิดกว้างให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกระบวนการนี้
นายยิ่งชีพกล่าวในตอนท้ายว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดำเนินการโดย ส.ส.ร.ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อป้องกันการซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจอยู่ตามกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาที่อึดอัดจนต้องลงบนถนนมาพูดคุยกันในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ได้กติกาใหม่ที่อยู่ร่วมกันได้และเป็นกติกาที่ใช้กันยาวนาน สิ่งเหล่านี้ที่นำมาเสนอต่อรัฐสภา เป็นข้อเสนอธรรมดา พื้นฐานมาก ๆ เป็นข้อเรียกร้องที่อยากจะขอแก้ไขระบอบการเมืองการปกครองที่ผิดปกติอยู่ในปัจจุบัน ให้กลับเป็นปกติเท่านั้น
“หากรัฐสภาลงมติรับหลักการก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตยและทำให้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนถนนได้มีพื้นที่พูดคุยอย่างมีเหตุผล แต่หากรัฐสภาไม่รับไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป สมาชิกรัฐสภาจะต้องอธิบายต่อประชาชนนับแสนคน และเจ้าของอำนาจอีกหลายล้านคนที่กำลังติดตาม และกำลังรอฟังคำอธิบายอยู่เช่นเดียวกัน” ผู้จัดการไอลอว์กล่าว