เจาะกลุ่ม ชิงนายก อบจ.ตาก คะแนนเบียดลุ้น‘ชิงดำ’

11 ธ.ค. 2563 | 00:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2563 | 07:51 น.

 

 

 

คอลัมน์เจาะสนามเลือกตั้ง อบจ.  โดย ทีมข่าวการเมือง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,635 หน้า 10 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม 2563

 

 

จังหวัดตาก หรือเมืองระแหง แผ่นดินสี่มหาราช มี 9 อำเภอ (อ.เมืองตาก-แม่สอด-บ้านตาก-พบพระ-แม่ระมาด-สามเงา-วังเจ้า-ท่าสองยาง และ อ.อุ้มผาง) โดยศึกชิงธง โค้งสุดท้าย สนามการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ตาก และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.ตาก) ทั้ง 30 เขต กำลังดุเดือดเร้าใจ คอการเมืองรวมถึงคนเมืองตากเฝ้าติดตามการหาเสียงแบบใจจดใจจ่อ มีลุ้นระทึกจนถึงวันหย่อนบัตรลงคะแนน ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563

ศึกชิงนายก อบจ.ตาก ครั้งนี้  มีผู้สมัครเข้าชิงชัย 4 ราย ประกอบด้วย

หมายเลข 1 แชมป์เก่า นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ “นายกฯ ณัฐวุฒิ” อดีตนายก อบจ.ตาก ในนามกลุ่มพัฒนาตาก 9 อำเภอ 

ส่วนผู้ท้าชิงมี หมายเลข 2 นางศิริกุล อนุตรพงศ์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตาก พรรคไทยรักษาชาติ ในนามกลุ่ม “ตากก้าวหน้า” โดยการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย เป็นผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงรายเดียว จึงชูสโลแกน ให้ผู้หญิงไปทำงาน เมืองตากต้องการผู้หญิงเป็น นายก อบจ.หญิง คนแรก

หมายเลข 3 นายคริษฐ์ ปานเนียม หรือ “เหยี่ยว ตากซิตี้” กลุ่ม “คณะก้าวหน้า” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ

หมายเลข 4 นายดิฐชัย ฉันติกุล หรือ “รองเส็ง” อดีต รองนายก อบจ.ตาก ในนามกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาชน 

จากจุดสตาร์ทผู้สมัครต่างเร่งเครื่องหาเสียงช่วงแรก นายกฯ ณัฐวุฒิ ออกตัวได้รวดเร็วกว่าคู่แข่งรายอื่น จากความเจนเวทีเป็นเจ้าสนามนั่งเก้าอี้นายก อบจ.ตากมานานถึง 8 ปี มีผลงานเคยทำมาที่หยิบยกขึ้นมาพูดถึงได้ พร้อมเครือข่ายทีมงานส.อบจ.ที่กระจายคลุมทุกพื้นที่ 

แรงหนุนสำคัญยังมี ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ลูกชายคนโต นั่งเป็นส.ส. ตาก เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ที่ขึ้นชั้นเข้าสภาเกียกกายในการเมืองระดับประเทศ เป็นข้อต่อถึงบิ๊กพรรคร่วมรัฐบาล แถมด้วยอนันทชัย ทวีเกื้อกูลกิจ ลูกชายคนรองอีกคน ก็นั่งเป็นรองนายกเทศมนตรีเมืองตาก 

สะท้อนถึงเครือข่ายการเมืองในพื้นที่ของ นายกฯณัฐวุฒิ ที่ปักหลักหนาแน่นทั้งเมืองระแหง

แต่การชิงชัยนายก อบจ. และส.อบจ.ตาก มิได้เงียบเหงา แต่นับวันยิ่งเร้าใจ เนื่องจากคู่แข่งก็พร้อมสู้ขาดใจ เดินปูพรมลงเคาะประตูบ้านขอแนะนำตัวพร้อมคะแนนเสียงไม่หยุด ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมมานี้ กระแสเริ่มจี้ติดมาอย่างกระชั้นชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหยี่ยว ตากซิตี้” หรือ คริษฐ์ ปานเนียม ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มต้นทำงาน พ่วงจากกระแสใหญ่ของคณะก้าวหน้า ที่คะแนนนิยมเริ่มขยายวงขึ้นเรื่อยๆ จากสโลแกนในการหาเสียง “เปลี่ยนจังหวัดตาก”

 

 

 

 

คริษฐ์ใช้กลยุทธ์เจาะคะแนนเสียงแบบกลุ่มอย่างชัดเจน นอกจากกระแสคนรุ่นใหม่แล้ว ยังนำเสนอเป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดตาก ไม่ว่าจะเป็นปปาเกอะญอ ม้ง มูเซอ พร้อมดึงคนมีชื่อเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มาร่วมทีมด้วยหลายคน 

ขณะที่ “รองเส็ง” ดิฐชัย ฉันติกุล ก็อาศัยลูกขยัน ลงพื้นที่อย่างหนักเดินทางวันละนับร้อยกิโลเมตร เพื่อพบปะประชาชนในแต่ละอำเภอของจังหวัดตาก แสดงความมุ่งมั่นขออาสาทำงานในตำแหน่งนี้มานานพอสมควร เมื่อสนามเปิดให้ชิงชัยอีกครั้งคราวนี้ก็ลงสมัครเป็นอีกทางเลือกอีก ทำให้เรียกคะแนนเห็นใจมาได้อย่างมาก

 

 

เจาะกลุ่ม ชิงนายก อบจ.ตาก คะแนนเบียดลุ้น‘ชิงดำ’

 

 

ดิฐชัย เคยเป็นรองนายก อบจ.ตาก คุมสำนักงานช่างและโยธาธิการ อบจ.ตาก ระหว่างปี 2547-2551 ยุค ชิงชัย ก่อประภากิจ “นายกฯเคี้ยง” เป็นนายก อบจ.ตาก ฝากผลงานไว้ไม่น้อยที่ถูกหยิบ ยกมาชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม

ทำให้คะแนนของ “รองเส็ง” เบอร์ 4 ตีตื้นขึ้นมาไล่ตาม นายณัฐวุฒิ เบอร์ 1 และ นายคริษฐ์ เบอร์ 3 แบบไม่ทิ้งห่าง ซึ่งในช่วงก่อนเข้าโค้งสุดท้ายนั้นต่างฝ่ายต่างเบียดกันชนิดห้ามกระพริบตา    

ถึงกระนั้นก็ประมาทผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ในนามกลุ่ม “ตากก้าวหน้า” นางศิริกุล อนุตรพงศ์ เบอร์ 2 ไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะล่าสุดขณะนี้จากการที่นางศิริกุล ชูความเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ลง สมัคร และให้โอกาสผู้หญิงทำงานเป็น นายก อบจ.ตากคนแรก กระแสความนิยมเริ่มทะยานขึ้นตามมาอย่างไม่ลดละ ด้วยความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงาน จุดนี้ทำให้ นางศิริกุล เบอร์ 2 เรียกคะแนนจากกลุ่มผู้หญิงให้มาช่วยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

 

 

 

 

ประกอบกับยังได้ทีมงานจากที่เคยช่วยหาเสียง ครั้งลงสมัครชิง ส.ส.ตาก เขต 3 มาช่วยอีกแรง ควบคู่กับทีมผู้สมัคร ส.อบจ.ตาก ในเขตต่างๆ ที่นางศิริกุลส่งผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ไม่น้อยกว่า 10 คน 10 เขต ที่จะช่วยสะสมแต้มให้ได้ไม่น้อย

ส่วนผู้สมัครชิงสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ตาก จำนวน 30 เขตนั้น แต่ละทีมจะได้เก้าอี้กระจายไปในแต่ละเขต โดยจะมาจากกลุ่มพัฒนาตาก 9 อำเภอมากสุด ต่อด้วย กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาชน คณะก้าวหน้า และพรรคเพื่อไทย-ตากก้าวหน้า เป็นลำดับ 

โค้งท้ายชิงนายก อบจ.ตากของ 4 ผู้สมัครคราวนี้ คอการเมืองและบรรดา กองเชียร์ในพื้นที่ ต่างวิเคราะห์วิจารณ์ผลการชิงชัยที่จะออกมาด้วยแนวคิดแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะกองเชียร์แต่ละฝ่ายยังมั่นใจคนที่ตนเชียร์ จะได้รับการชูมือคว้าชัยชนะครั้งนี้แน่ แต่คอการเมืองไม่ฟันธง เพราะแต่ละคนต่างมีจุดแข็งและมุ่งเจาะกลุ่มฐานคะแนนของตนเองเป็นหลัก

แต่ละคนมีสิทธิลุ้นถึงการนับคะแนนสุดท้าย