ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้( 9 ก.พ.64) ที่ประชุมรัฐสภา ได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อญัตติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความหน้าที่และอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา กว่า 4 ชั่วโมง
มีผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้าน เพราะมองว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรให้องค์กรอื่นตีความการทำหน้าที่ อีกทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางกฎหมายที่หาทางออกไม่ได้ อีกทั้งเชื่อว่าญัตติดังกล่าว หากถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่รัฐสภาอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระสอง ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้มีผู้อภิปรายสนับสนุนส่งญัตติดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ว. ที่มองว่าควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อหน้าที่และอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
จากนั้นเวลา 14.00 น. นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะผู้ร่วมเสนอญัตติ อภิปรายปิด ตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีและทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ใช้อำนาจเกินรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบกำหนด
โดยปี 2563 - 2564 มีญัตติที่สภาฯ ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ รวม 11 คำร้อง แสดงว่าศาลรัฐธธรรมนูญมีหน้าที่พิจารณาญัตติของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ญัตติดังกล่าวถือว่าชอบอย่างยิ่งที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีความเห็นทางข้อกฎหมายแตกต่างกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งนี้ตนไม่กลัวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยถ่วงดุลการทำงาน
ต่อมาเมื่อเวลา 14.20 น. ที่ประชุมรัฐสภา ได้ลงมติว่าจะส่งญัตติเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วยกระบวนการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่
โดยผลการลงมติเสียงข้างมาก 366 เสียง เห็นด้วยที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วย 315 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาส่งญัตติดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย