การประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ เมื่อวันที่17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 21.10 น.เมื่อกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร(กทม.)ถูกพาดพิง กรณี รถไฟฟ้าสายสีเขียวจากพรรคฝ่ายค้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) ชี้แจงว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยกทม.ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น 3 แนวทาง วิธีแรกคือการกู้เงินซึ่งเราทำไม่ได้ เพราะกทม.ไม่มีความสามารถจะทำได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ สองการออกตราสารหนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะยังขาดทุนอยู่แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปปันผลให้เขา วิธีต่อมาคือการร่วมทุนที่ท่านพูดถึงกฎหมายเขียนไว้ว่า เอกชนทำได้ดีกว่า รัฐบาลก็ต้องให้เอกชนทำ แต่ประชาชน และประเทศชาติต้องได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกันเอกชนก็ต้องได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมแบบนี้จึงจะเรียกว่าการร่วมทุน แต่เราร่วมทุนไม่ได้เพราะกว่าจะรอให้สัมปทานสิ้นสุดในปี 2572 จะร่วมทุนก่อนหมดสัญญาได้ 3 ปี เท่ากับว่าจะเริ่มเจรจาได้ในปี 2569 และใช้เวลาเจรจาประมาณ 2 ปี รวมเป็น 5 ปี ปัญหาคือเวลาที่ล่วงเลยไปจะทำให้เราเกิดหนี้เพิ่มขึ้นอีก และรัฐบาลกับกทม.ก็ไม่มีเงิน จึงต้องหาทางเจรจาเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนได้รับค่าโดยสารที่เหมาะสม และเอกชนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมด้วย
คสช.จึงออกคำสั่ง และให้ข้อตกลงคุณธรรมเมื่อการเจรจาจบแล้วให้นำเสนอ ครม.พิจารณา ตนไม่ได้ไปทำอะไรที่ทุจริตที่ไหน เมื่อคสช.สั่งมาตนก็เอาข้อเสนอไปเสนอให้ครม. ไม่ได้มีนอกมีใน ซึ่งครม.เองได้มีการถามความเห็นหน่วยงานต่างๆ และตั้งกรรมการศึกษาเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยมีคนใช้อำนาจบริหาร และมีสภาเป็นฝ่ายตรวจสอบ แต่สภาจะใช้อำนาจสั่งการไม่ได้ เมื่อท่านมีข้อเสนอแล้วส่งไปยังครม. ครม.จะปฏิบัติอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ครม. ซึ่งกรณีนี้ครม.ได้เรียกกทม.มาชี้แจงแล้ว ตนก็ไม่มีสิทธิ์ไปห้ามครม.
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีค่าโดยสารสายสีเขียวราคา 65 บาท ระยะทาง 53 กม. ขณะที่สายสีน้ำเงินราคา 42 บาท ระยะทาง 26 กม. ท่านโจมตีว่าราคา 65 บาทแพง ก็ต้องแพงอยู่แล้ว ท่านจะเดินทางไประยองกับเดินทางไปพัทยาราคาจะเท่ากันได้อย่างไร เพราะราคาจะต้องขึ้นอยู่กับระยะทาง และต้องพิจารณาจากการลงทุนด้วย ซึ่งสายสีเขียวเป็นสายเดียวที่รัฐบาลไม่ได้ออกเงินแม้แต่บาทเดียว
เนื่องจากเอกชนลงทุนเองทั้งหมดตั้งแต่การสร้างราง วางระบบ และซื้อรถมาวิ่ง หนี้สินทั้งหมดเอกชนเป็นผู้รับโดยนำรายได้ที่ได้รับมาหักลบกลบหนี้กับกทม. และหากช่วงระยะเวลาที่เหลือเขาจะได้กำไรก็ต้องให้เขา ส่วนที่มาของค่าโดยสาร 104 บาทนั้น กทม.ศึกษาไว้ที่ 158 บาท แต่ประชาชนจะได้รับผลกระทบ
ดังนั้น จึงมีการกำหนดราคาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือส่วนต่อขยาย 1 – 2 และส่วนหลัก โดยส่วนต่อขยาย 1 – 2 เราควบคุมราคาไม่ให้เกิน 45 บาท ขณะที่ส่วนหลักอยู่ที่ 44 บาท แต่ถ้าท่านจะเดินทางสุดสาย ราคาส่วนต่อขยาย 1 – 2 จะลดลงเหลือ 30 บาท เท่ากับว่าท่านเดินทางจากต้นทาง คือ จากคูคตมาห้าแยกลาดพร้าว ราคา 30 บาท มาต่อที่ส่วนหลัก คือ เส้นทางหมอชิต – สะพานตากสิน อีก 44 บาท แล้วต่อไปจนถึงสถานีบางหว้าหรือสถานีแบริ่ง อีก 30 บาท รวม 104 บาท
เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถเมล์ปรับอากาศที่ต่อจนสุดสายในระยะทางเท่ากันจะอยู่ที่ 70 บาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักประโยชน์ของประเทศและประชาชน กรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท้วงติงเรื่องการต่อสัมปทานถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของครม. เพราะอะไรผิดครม.ก็ต้องท้วงติง แสดงให้เห็นว่ามีการนำเรื่องต่างๆเข้าสู่การพิจารณาของครม.จริง
พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงอีกว่า รัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติซึ่งต้องสอดคล้องกับรายได้อทป. และอปท.มีอิสระในการบริการจัดทำการบริการสาธารณะ การเงิน และการคลัง ซึ่งอปท.ต้องทำเท่าที่จำเป็น ดังนั้น กทม.จึงอยู่ในสถานะเดียวกันกับอปท. ตนในฐานะรมว.มหาดไทยกำกับกทม. ด้วยการให้นโยบายได้ แต่ไม่มีใครบังคับกทม.ได้ กทม.ต้องพิจารณาตามสภาพการเงินการคลังของเขาที่สามารถทำได้