“เรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ แม้จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว แต่ในความเป็นจริง เราจะยังต้องเดินหน้าทำงานต่อ รายละเอียดของเรื่องนี้ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังนะครับ มหากาพย์การโกงครั้งมโหฬารที่ดำเนินมากว่า 30 ปี กำลังจะปิดฉากลงในไม่นานนี้ครับ ผมจะพยายามต่อไปอย่างถึงที่สุดเพื่อเป็นของขวัญให้กับประเทศของเราครับ”
นี่คือข้อความที่ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว
ทันทีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2545 นับอายุความของ “คดีค่าโง่โฮปเวลล์” ผิดกฎหมาย คือวันที่ 9 มี.ค.2544 มาใช้อ้างอิง เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะแม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ยังวินิจฉัยอีกว่า มติที่ศาลปกครองสูงสุดนำมาที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาคดีนั้น ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงนำมาบังคับใช้ไม่ได้
เหตุนี้อาจทำให้มติศาลปกครองสูงสุดที่ให้จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นรื้อคดีใหม่ได้ หลังจากก่อนหน้านี้มีการยื่นหลักฐานขอรื้อคดี โดยอ้างพบว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ถูกตีตกไป
“ขอให้เข้าใจว่าคดีนี้เป็นสิ่งที่ค้างคาจากรัฐบาลชุดก่อนจนถึงรัฐบาลชุดนี้ และตนเองได้พยายามแก้ไขโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาเช่นนี้ต่อไป ในทุกเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ แต่หลายอย่างต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป”
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์เผยภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยมีมติดังกล่าว พร้อมให้คณะทำงานนำคำวินิจฉัยกลับไปพิจารณา ว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการอย่างไรต่อไปได้บ้าง ซึ่งถ้าเป็นไปตามคำวินิจฉัยได้ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน ๆ
แต่กลับต้องมาแก้ไขในสมัยรัฐบาลนี้ และถ้าสามารถแก้ไขได้ก็ถือเป็นการสงวนเงินงบประมาณของแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกระทำการใดก็ตาม รัฐบาลระมัดระวังอย่างถึงที่สุด และต้องเริ่มต้นทุกอย่างด้วยความถูกต้องและไม่ให้เกิดการทุจริต
ทำไมถึงเรียกว่า “ค่าโง่โฮปเวลล์”
ความหวังจะแก้ปัญหาจราจร ในสมัยที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนแต่มีเพียงรายเดียวที่ยื่นเอกสาร นั่นคือ บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกง เเละมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พ.ย. 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุ 30 ปี ข้อตกลงว่าบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี (6 ธ.ค.2534 – 5 ธ.ค.2542) แต่การก่อสร้างดำเนินไปอย่างล่าช้ากว่าที่คิด
ต่อมามีความพยายามผลักดันโครงการโฮปเวลต่อในสมัยรัฐบาล “นายชวน หลีกภัย” ซึ่งขณะนั้น “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงบอกเลิกสัมปทานในวันที่ 20 ม.ค. 2541 หลังดำเนินการก่อสร้างมาแล้ว 7 ปี แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.77% เท่านั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทย รฟท. ได้พยายามนำโครงการที่สร้างไปแล้วมาพัฒนาต่อในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ทำให้ บริษัทโฮปเวลล์ไม่ยอม และยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญา
คณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยชี้ขาดว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม สั่งให้จ่ายเงินชดเชยบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) 11,888 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 13 มี.ค.2557 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ วันที่ 22 เม.ย.2562 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา ให้จ่ายค่าโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ยรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท วันที่ 22 พ.ย.2562 เสนอ ครม.สู้คดีต่อ วันที่ 22 ก.ค.63 ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณา ซึ่งเมื่อคดีเดินทางมาจนถึงปัจจุบัน ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยก็ขยับไป 2.4 หมื่นล้านบาท
คำถามที่ตามมาก็คือ มหากาพย์โฮปเวลล์ ครั้งนี้จะจบง่ายๆ จริงหรือไม่ และเมื่อผลของคดีออกมาเช่นนี้ จะมีความยึดโยงกับการจ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พีระพันธุ์"ชี้“ค่าโง่โฮปเวลล์”เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้มติศาลปกครองจ่าย”ค่าโง่โฮปเวลล์”ขัดรัฐธรรมนูญ
พลิกแฟ้ม! มติศาลปกครองสูงสุดที่ทำให้มีลุ้นรื้อคดี“ค่าโง่โฮปเวลล์”