วันนี้(22 มี.ค.64) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย 5 ส. คือ เสมอภาค-สมดุล-สร้างสรรค์-ส่งเสริม-ส่วนร่วม ของ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ที่ได้ประกาศไว้ภายหลังดำรงตำเเหน่ง ว่า จากนโยบายเป็นเรื่องอำนวยความสะดวก โดยมีจุดมุงหมายว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการขอประกันตัวได้ง่ายขึ้น
จะเห็นได้ว่า เรื่องการขอประกันตัว ทางศาลยุติธรรมเราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ครั้ง นายไสลเกษ วัฒนพันธ์ เป็นประธานศาลฎีกา ที่ได้วางนโยบายที่เรียกว่า ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน การปล่อยชั่วคราวก็คือ การไม่ขังถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ โดยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสที่ขอประกันตัวต่อศาลได้มากขึ้นและง่ายขึ้น
“จะเห็นว่าการขอประกันตัวของชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ถึงชั้นศาล กฎหมายให้ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 ชั่วโมง จากนั้นต้องนำตัวมาฝากขังต่อศาล จนกว่าจะฟ้อง หรือ พิจารณาคดีเสร็จ ฉะนั้นระยะเวลาที่จะถูกคุมขังอยู่ในอำนาจศาล จึงค่อนข้างยาวนาน การปล่อยชั่วคราว หรือ ประกันตัวในชั้นศาล จึงมีความสำคัญกว่า เพราะว่าถ้าไม่ได้ประกันตัวในชั้นศาล ก็จะถูกคุมขังนานกว่าขั้นตอนของตำรวจ”
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการขอประกันตัวของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมัก ต้องใช้หลักประกันไม่ว่า เงินสด ที่ดิน หรือ หลักทรัพย์อื่น แต่พอต้องใช้หลักประกัน ก็ทำให้ชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ไม่มีหลักทรัพย์ กลายเป็นไม่มีโอกาสขอประกันตัว หมายถึงไม่ได้ขอประกันตัวเลย ไม่ใช่ศาลไม่ให้ประกัน แต่เขาไม่ยื่นขอประกัน
ฉะนั้น ถ้ายังยึดติดกับการใช้หลักทรัพย์ในการขอประกันตัว คนกลุ่มนี้ก็ไม่มีโอกาสใช้สิทธิขอประกันตัว จุดนี้โจทย์ของนโยบายประธานศาลฎีกา ว่าจะทำอย่างไร ให้การขอประกันตัวง่ายขึ้น และก็ไม่ต้องไปติดยึดกับการใช้หลักประกัน ศาลจึงปักหลักตั้งต้นจากจุดนี้ก่อน เพราะถ้าเราไม่ข้ามพ้นจุดที่ว่าต้องใช้หลักประกันมันก็ยังเหมือนเดิม เรียกว่าเป็นจุดอุปสรรคหนึ่งของระบบการประกันตัวที่ผ่านมา คือการใช้หลักประกัน ผลก็คือทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว
เรื่องที่ 2 คือเรื่องที่เป็นข้อจำกัดเรื่อง “เวลา” ในเมื่อการทำงานมีวันหยุด แต่โอกาสที่ชาวบ้านจะตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย และถูกคุมขังในระหว่างการดำเนินคดีอาญา ไม่ได้มีวันหยุดด้วย หากถูกจับตัววันเสาร์ก็ถูกคุมขังตั้งแต่วันเสาร์ แต่วันอาทิตย์ราชการไม่มีใครทำงาน ศาลก็ปิดทำการ เปิดทำการอีกทีก็วันจันทร์ จึงยังเป็นสุญญากาศเรื่องเวลา นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา ในขณะนั้นจึงมีนโยบายที่เรียกติดปากว่า ความยุติธรรมไม่มีวันหยุด
ทุกวันนี้ศาลยุติธรรมเปิดทำการให้ประชาชนสามารถมายื่นขอขอประกันตัวได้ทุกวัน โดยไม่มีวันหยุด แต่ถึงเเม้ไม่มีวันหยุดก็จริง ก็ยังมีเวลาหยุดหลัง 16.30 น. ในตอนกลางคืนศาลปิดยื่นขอประกันไม่ได้แล้ว นางเมทินี ประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบัน จึงต่อยอดให้มีการยื่นขอประกันตัว
อีกอย่างหนึ่ง คือการขอประกันตัวออนไลน์ ทำให้เเม้หลัง 16.30 น. ศาลปิดทำการแล้ว แต่ระบบบริการออนไลน์ของศาลเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ชาวบ้านสามารถยื่นขอประกันได้ทางออนไลน์ หลัง 18.30 น. จนถึงเช้าก่อน 08.30 น. ก็สามารถยื่นเข้ามาได้ตลอดเวลา พอ 08.30 น. เมื่อศาลเปิดทำการก็จะได้พิจารณาคำขอประกันได้ทันที ยกระดับเป็นการประกันตัวแบบไม่มีเวลาหยุดที่ประชาชนสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตรงนี้ทำให้ข้อจำกัดเรื่องเวลาหมดไปเปลาะหนึ่ง
มาถึงตรงนี้เราก็ย้อนไปดูปัญหาเรื่องการที่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เพราะถ้ายังก้าวไม่ข้ามปัญหานี้ ก็จะแก้ปัญหาเรื่องโอกาสประกันตัวได้ยาก ถึงแม้จะเปิดให้ขอประกันได้ 24 ชั่วโมง คนกลุ่มเดิมคื อกลุ่มที่ไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ก็จะไม่ได้ขอประกันตัวอยู่ดี เพราะปัญหาไม่ใช่เรื่องเวลาสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้ แต่เป็นเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ เราต้องแก้ให้ถูกจุด จึงต้องทราบก่อนว่าหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ศาลจะให้ประกันตัว หรือ ไม่ให้ประกันตัว อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108-108/1 เป็นเกณฑ์ที่ศาลใช้พิจารณาในการปล่อยชั่วคราว
ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การให้หรือไม่ให้ประกัน กฎหมายให้ศาลใช้ดุลพินิจตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ให้ดูความหนักของข้อหา ดูว่าปล่อยไปแล้วจะหลบหนีหรือเปล่า จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่อเหตุอันตรายอย่างอื่นไหม นี่เป็นเกณฑ์ของกฎหมายที่ศาลใช้พิจารณาคำขอประกันทุกเรื่องซึ่งต้องอาศัยข้อมูล
“ที่ผ่านมา ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงมีความจำเป็นต้องใช้วิธีให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันเอาไว้ นอกจากนี้ กระบวนการยื่นคำขอประกันจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล ต้องกรอกข้อมูลหลายอย่าง ต้องมีเอกสาร เช่น ภาพถ่าย แผนที่ สำเนาโฉนดที่ดินแนบมาประกอบ ปกติคนยื่นคำร้องขอประกันให้จะเป็นญาติหรือคนรู้จัก ลองนึกภาพว่า ถ้าคนที่ถูกจับมาคนเดียวไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อนตามมาด้วย ก็อาจไม่ได้ขอประกัน เพราะไม่มีคนมาติดต่อยื่นให้ จะยื่นเองก็ทำไม่เป็น ยิ่งต้องใช้เอกสารอีกเยอะแยะ เผลอๆ ถูกจับมาบัตรประชาชน ยังไม่ได้พกติดตัวมาเลย อุปสรรคมากมายไม่ว่าเรื่องที่ต้องใช้หลักประกัน ข้อจำกัดเรื่องเวลาทำการ หรือความยุ่งยากในขั้นตอนการทำคำขอประกันหรือเอกสารที่ต้องใช้ ชาวบ้านบางคนอาจเขียนหนังสือไม่ถนัด
ตอนนี้ทุกศาลจึงมีคำร้องขอประกันที่สามารถเขียนเองง่าย ๆ แค่เขียนชื่อตัวเอง หรือ พิมพ์ลายนิ้วมือ และไม่ต้องแนบเอกสารอะไรมาเลย เราเรียกกันว่าคำร้องใบเดียว ให้ทุกคนยื่นคำขอประกันได้เอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นมายื่นให้ ก็ได้ คำร้องใบเดียวเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ศาลยุติธรร มนำมาใช้ในการขยายโอกาสให้ผู้ต้องหา หรือ จำเลยคดีอาญามีสิทธิได้รับประกันตัว”
นายสุริยัณห์ ชี้แจงอีกว่า เมื่อก่อนหน้านี้ การให้วางหลักประกันในการประกันตัวเพื่อความมั่นใจว่า จะไม่หนี การหนี หรือ ไม่หนี เป็นเรื่องความเสี่ยงของเหตุการณ์ในอนาคต เราต้องแก้ตรงต้นเหตุว่าทำอย่างไรให้ศาลมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ ที่จะประเมินว่าคนไหนเสี่ยง จะหนี หรือ ไม่หนี เสี่ยงต่ำ เสี่ยงสูง เป็นการประเมินความเสี่ยง คือการเอาข้อมูลในอดีต ปัจจุบัน มาประกอบเพื่อทำนายอนาคตนั่นเอง
เช่น คนนี้ถูกจับมาฝากขัง ศาลก็ดูข้อมูลในอดีตว่า เคยทำผิดอะไรมาก่อนหรือไม่ มีครอบครัวมีที่อยู่หลักแหล่ง หน้าที่การงานเป็นอย่างไร เอาสิ่งเหล่านี้มาประกอบ หรือ ประเมินด้วยวิธีการทางสถิติว่า คนนี้ถ้าให้ประกันตัวไป มีความเสี่ยงที่จะหลบหนีสูง หรือ จะไปยุ่งกับพยานหลักฐานมากน้อยขนาดไหน ถ้าความเสี่ยงต่ำ หรือ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ก็อาจให้ประกันไปโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์มาประกันเลย
ตรงนี้คือ การประเมินความเสี่ยง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ทุกศาลมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลที่นำมาใช้ประเมินความเสี่ยงมาจาก 3 แหล่งหลัก ๆ คือ
1. ข้อมูลจากฐานข้อมูลของศาลเอง เช่น ประวัติคดีอื่นว่ามีคดีจากที่อื่นหรือไม่
2.ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเอง เช่น ข้อมูลส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่ อาชีพ
3.ข้อมูลจากแหล่งอื่น เช่น หน่วยงานราชการ ประวัติการคุมประพฤติ หรือถามความเห็นจากผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว นำข้อมูลที่ได้จากทั้ง 3 ส่วนมาประกอบประเมินค่าความเสี่ยงว่าอยู่ในระดับไหน เพื่อประกอบดุลพินิจของศาลว่าควรให้ประกันตัวหรือไม่และถ้าจะให้ประกัน จะต้องให้วางหลักประกันหรือไม่ หรือควรมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ การประเมินความเสี่ยงถือเป็นเครื่องมือประเมินที่ศาลนำมาใช้เพื่อลดการใช้หลักประกัน เพราะปัญหาที่เราพูดกันคือการใช้หลักประกัน ถ้าเป็นคนยากจนก็เข้าไม่ถึงโอกาสขอประกันตัว แต่ถ้าประเมินความเสี่ยงแล้วไม่มีปัญหาศาลก็ปล่อยได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์อะไรมาประกันตัวเลย
อีกเครื่องมือหนึ่งที่ศาลใช้เกี่ยวกับการประกันตัวคือการใช้กำไล EM ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากที่ประเมินความเสี่ยงแล้ว ผู้ต้องหา หรือ จำเลยบางคนหากดูแล้วค่อนข้างที่จะมีความเสี่ยง หรือมีความจำเป็น ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขการให้ประกันตัว เพิ่มด้วย ไม่ว่าจะใช้หลักประกันหรือไม่ใช้หลักประกัน เงื่อนไขอื่นที่ศาลอาจกำหนดเพิ่ม เช่น ห้ามออกนอกประเทศ ห้ามไม่ให้เข้าใกล้ หรือเข้าไปในที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย ก็แล้วแต่ความเสี่ยงที่มีขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน ถ้าจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขก็ทำได้ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องกำหนด ถ้าเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำกัดเดินทาง หรือ จำกัดที่อยู่ก็มีเครื่องมือมาสอดส่องว่าทำตามเงื่อนไขหรือไม่ เช่น ให้ปล่อยชั่วคราว แต่วางเงื่อนไขห้ามออกจากบ้านหลังจาก 22.00 น. หรือ ห้ามไม่ให้ไปอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหาย เพราะเกรงว่าจะไปทำร้ายกันอีก เป็นการวางเงื่อนไขใดที่เกี่ยวกับพื้นที่หรือการเดินทาง สามารถสั่งติดกำไล EM เพื่อเฝ้าระวังอีกชั้นหนึ่งได้ด้วย
3.การตั้งผู้กำกับดูแล เป็นมาตรการตามพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 บางครั้งการติดอีเอ็มดูความเคลื่อนไหวผ่านจอมอนิเตอร์ อาจสู้การใช้คนสอดส่องดูแลไม่ได้ บางคนศาลให้ประกันไปโดยวางเงื่อนไขให้มารายงานตัวเป็นระยะๆ แต่ก่อนต้องมารายงานตัวที่ศาล
“เดี๋ยวนี้สามารถสั่งให้ไปรายงานตัวที่ผู้ใหญ่บ้านได้เลย ผู้ใหญ่บ้านยังช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมได้ด้วยว่า อย่าให้ไปทำอะไรผิด อย่าให้ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน อันนี้เป็นกลไกของกฎหมายอีกชิ้นหนึ่งที่มีประสิทธิภาพถ้าใช้ 3 เครื่องมือนี้แล้วตอบได้ว่าคนนี้สามารถควบคุมความเสี่ยงได้ ก็ให้ประกันตัวไปได้โดยไม่ต้องมีการเรียกเงิน หรือหลักประกัน”
ทั้งหมดนี้ คือกลไกการทำงานของการปล่อยชั่วคราวภายใต้นโยบายของ นางเมทินี ชโลธร ที่เป็นนโยบายที่ว่าทำอย่างไรที่จะลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นโดยการปล่อยตัวชั่วคราว หรือให้ประกันตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องปล่อยทุกเรื่อง เพราะการปล่อยหรือไม่ปล่อยชั่วคราว เป็นดุลพินิจของศาลตามหลักกฎหมาย
ส่วนโยบายเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสในการปล่อย โดยใช้ทุกกลไกของกฎหมายมาขับเคลื่อน โดยที่กำลังทำอยู่คือส่งเสริมให้ทุกศาลทั่วประเทศใช้เครื่องมือและกลไกตามกฎหมาย เปิดทำการศาล เเละการยื่นขอประกันตัวทำได้ง่าย ลดการใช้หลักประกัน ถ้าทำได้เต็มรูปเเบบจะเกิดภาพรวมที่สังคมสงบสุขด้วย เพราะปล่อยไปแล้วความเสี่ยงว่า สังคมจะเดือดร้อนจากผู้ต้องหา หรือ จำเลยไปทำอันตราย ก็จะน้อยลงหรือไม่มี
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพก็คือกรณี 22 ชาวบ้านบางกลอย ถือว่าเคสนี้ได้ใช้ทุกกลไกที่กล่าวมา ทั้ง 22 คน เป็นผู้ต้องหาชั้นสอบสวน ถ้าใช้ระบบเก่าในการประกันตัว ที่การยื่นประกันต้องเขียนคำร้อง มีเอกสารประกอบ บัตรประชาชน สำเนาโฉนด สำเนาบัตรสมุดเงินฝากซึ่งเป็นเอกสารจำนวนมาก ถ้าบางคนไม่มีความรู้เขียนหนังสือไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออกก็ไม่สามารถทำขั้นตอนนี้ก็ไปต่อไม่ได้ ไม่สามารถขอประกันตัวได้
แต่กรณีนี้ศาลจังหวัดเพชรบุรีใช้คำร้องใบเดียวมาบริการให้ คือส่งไปให้ลงชื่อจากที่คุมขังเลยแล้วส่งกลับมาเเละก็มีคำสั่งให้ประกันตัวได้ออกมาในวันเดียวกัน และที่ทำได้รวดเร็ว เพราะใช้คำร้องใบเดียวซึ่งใช้ง่ายมาก เพียเซ็นชื่อหรือบางคนพิมพ์ลายนิ้วมือมา มีคนรับรองว่าเป็นลายนิ้วมือผู้ต้องหาจริงก็ใช้ได้เเล้ว
“กรณีนี้เป็นการปล่อยตัวในวันหยุดราชการ ก็มีคนสงสัยว่าศาลทำงานวันหยุดด้วยเหรอ เรื่องการให้ประกันตัวในวันหยุด ศาลดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 โดยได้รับความร่วมมือจากทางกรมราชทัณฑ์ มีประชาชนรู้บ้าง เเต่ก็ยังมีคนที่ไม่รู้ จึงต้องฝากสื่อมวลชนช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่า ศาลทำงานเรื่องการปล่อยชั่วคราว หรือ ประกันตัวไม่มีวันหยุด หรือถ้าใครสะดวกที่จะยื่นคำขอประกันตอนกลางคืน ก็สามารถยื่นทางออนไลน์ใช้ระบบ cios ของศาลได้ตลอด24ชั่ วโมง”
โฆษกศาสยุติธรรม ย้ำว่า กรณีของบางกลอย เราก้าวพ้นอุปสรรคในเรื่องเวลา เพราะทำในวันหยุดได้ แต่ลองนึกดูว่าถ้าต้องใช้เงินประกันตัว คนละ 50,000 บาท 22 คน ต้องใช้ เงินนับล้านบาท เงินมากขนาดนี้ชาวบ้านไม่มีแน่ๆ แต่ศาลจังหวัดเพชรบุรี ให้ประกันตัวทุกคนแบบไม่ต้องใช้หลักประกันแม้แต่บาทเดียว เพียงแค่ให้ทำสัญญาประกันไว้ว่า ถ้าคนไหนหลบหนี หรือ ทำผิดเงื่อนไขค่อยปรับคนนั้น 50,000บาท พร้อมกับวางเงื่อนไขไม่ให้กลับเข้าไปในพื้นที่ในระหว่างพิจารณาคดี
ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เข้าไปยุ่งกับที่เกิดเหตุชั่วคราวมากกว่า ศาลไม่ได้ห้ามเด็ดขาด หรือ ถาวร ขอแค่ว่าระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน อย่าเพิ่งเข้าไปในพื้นที่ เพราะยังโต้แย้งสิทธิกันอยู่ว่า เข้าไปอยู่ได้หรือไม่ ทำนองเดียวกับการวางเงื่อนไขว่า ไม่ให้ไปก่อภยันตรายประการอื่น คำว่าภยันตรายตามกฎหมายไม่ได้หมายถึงเฉพาะไปตีไปต่อยไปฆ่าใคร เเต่หมายถึงไปทำซ้ำกับสิ่งที่โต้แย้งกันอยู่ หรือที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น ก็ห้ามไว้ชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แล้วก็แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาสอดส่องดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดด้วย
ถือว่ากรณีประกันตัวของคนบางกลอยเป็นตัวอย่างที่ใช้เครื่องมือตามกฎหมายเกือบครบ ที่ขาดคือไม่ได้ยื่นขอประกันทางออนไลน์ กับไม่ต้องใส่กำไล EM แต่ผลลัพธ์ที่ได้เหมือนกัน เพราะว่าการตั้งคนมาสอดส่องดูเเลกับการติด EM นั้นมีจุดประสงค์เดียวกัน แต่การติด EM ก็เหมือนใส่นาฬิกาติดตัวตลอดเวลามีผลกระทบกับการใช้ชีวิตบ้าง ศาลจึงเลือกใช้วิถีทางที่กระทบสิทธิน้อยที่สุดโดยใช้คนสอดส่องดูแลแทนการติดอีเอ็ม ถือเป็นแนวทางการให้ประกันตัวที่น่าสนใจมาก
“จะเห็นได้ว่านโยบายคุ้มครองสิทธิเป็นนโยบายที่ศาลทำมาอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้ว่าไปเน้นว่าต้องเป็นเฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งเป็นคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิด ในส่วนของผู้เสียหายซึ่งเป็นคนถูกทำร้ายถูกกระทำ ศาลก็คุ้มครองอย่างเท่าเทียม ซึ่งศาลยุติธรรมจะต้องสื่อสารไปยังประชาชนให้ทราบถึงสิทธิและวิธีการใช้สิทธิอย่างทั่วถึง โดยขอให้ศาลที่อยู่ในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจประชาชนให้ได้มากที่สุด ต้องให้ประชาชนรู้สิทธิ ต่อไปประชาชนมีคดีมาศาลจะขอประกันตัว สามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้เลยว่า ขอใช้คำร้องใบเดียว ถ้าสื่อสารได้ทั่วถึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก กระบวนการที่กล่าวมายืนยันว่า มีการใช้ในทุกศาลทั่วประเทศแล้ว”
ส่วนเรื่องคดีความหรือขั้นตอนของศาล คนที่ไม่ได้มีคดี คงไม่มีใครมาศึกษาหาข้อมูลไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะไม่มีใครเตรียมตัวว่า วันหนึ่งจะตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย แต่เมื่อถึงคราวตกเป็นผู้ต้องหาจริงๆ แล้ว ก็หาข้อมูลไม่ทัน ทุกคนต้องช่วยกันเผยแพร่เรื่องที่มีประโยชน์เช่นนี้ให้รู้กันอย่างทั่วถึง
โฆษกศาลยุติธรรม ยังเปิดเผยถึงสถิติการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาของศาลยุติธรรมด้วยว่า ในปี 2564 ปรากฏข้อมูลสถิติการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ล่าสุดช่วงเดือนมกราคม (วันที่ 1-31 ม.ค.64) ดังนี้
จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณาทั้งสิ้น 19,550 คดี
ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 18,076 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.46
ขณะที่สถิติการปล่อยชั่วคราวย้อนหลัง 4 ปี ปรากฏข้อมูลการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ดังนี้
ปี 2563 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณาทั้งสิ้น 237,875 คดี
ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 217,094 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.26
ปี 2562 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณา ทั้งสิ้น 217,903 คดี
ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 200,713 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.11
ปี 2561 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณา ทั้งสิ้น 235,404 คดี
ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 214,444 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.10
ปี 2560 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณา ทั้งสิ้น 227,687 คดี
ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 212,653 คดี คิดเป็นร้อยละ 93.40
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำถึงการขอปล่อยชั่วคราวด้วยว่า จากสถิติคดีจึงเห็นได้ว่าศาลยุติธรรมอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก จะไม่อนุญาตเฉพาะบางกรณีเท่านั้น แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ หากยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้วศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ขอประกันยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำร้องได้อีก หรือจะยื่นเป็นคำร้องใหม่ก็ได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลใหม่ หรือเหตุผลที่จะหักล้างเหตุผลเดิมของศาล ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ได้