“คดีจำนำข้าว” มองต่างมุม “ยิ่งลักษณ์” ไม่ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน

02 เม.ย. 2564 | 07:30 น.

​​​​​​​ผ่า “ประเด็นร้อน” หลังศาลตัดสิน “คดีจำนำข้าว” ศาลตัดสิน “ยิ่งลักษณ์” ไม่ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน ฝ่าย นักวิชาการ ชี้ตามคาด โกงระดับปฏิบัติ ส่วน “หมอวรงค์” แนะรัฐอุทธรณ์สู้พลิกคดี

วันที่ 2 เมษายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย โดยศาลเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการทุจริตเกิดขึ้นในเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลายคนเกี่ยวข้องแต่การสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกลับมิได้มีการดำเนินสอบสวนให้ได้ว่าเจ้าหน้าที่คนใดควรต้องรับผิดเป็นจำนวนเท่าใดจากการทุจริต

 

อีกทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี รับรู้เกี่ยวข้องเฉพาะขั้นตอนการทำเอ็มโอยูเพื่อให้มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่ในส่วนการทำสัญญาระบายข้าวไม่ได้เกี่ยวข้อง อีกทั้งกระทรวงการคลังก็รับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงและขั้นตอน การตรวจสอบ ของคณะกรรมการ สอบสวนความรับผิดทางละเมิด ก็ไม่ถูกต้อง ตามที่กฎหมายกำหนด

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าไม่ได้แปลกใจ คาดคิดตั้งแต่แรกแล้ว  สั่งการจริง ในการทำเอ็มโอยู แต่ที่ทุจริตเกิดจากฝ่ายปฏิบัติ คือ หากมองในแง่ของการสั่งการ อาจจะไม่ได้สั่งการดูแล แต่มอบให้ฝ่ายปฏิบัติไปปฏิบัติแทน ในเชิงของการบริหารก็รอดตัว

 

 

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom  ว่า วันนี้หลายคนคงแปลกใจ ต่อคำพิพากษา ศาลปกครองกลาง กรณียกเลิกคำสั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งๆที่คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง มีคำพิพากษาความผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานไม่ระงับยับยั้งและปล่อยให้มีการทุจริตในคดีการระบายข้าวแบบจีทูจี สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ในคำพิพากษาศาลปกครองกลาง มีประเด็นที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกานักการเมือง ที่น่าสนใจคือ

 

ข้อความจากศาลปกครองกลาง "น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีรับรู้เกี่ยวข้องเฉพาะขั้นตอนการทำเอ็มโอยูเพื่อให้มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่ในส่วนการทำสัญญาระบายข้าวไม่ได้เกี่ยวข้อง"

 

ซึ่งข้อความดังกล่าว ผมเคารพคำตัดสินของศาลปกครองกลาง แต่เมื่อมาเทียบกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองในเรื่องนี้กลับระบุดังนี้

 

"สำหรับประเด็นระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนั้น วินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า จำเลย (หมายถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์) ทราบว่าสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้มีการส่งมอบข้าวตามสัญญาให้รัฐวิสาหกิจจีนต่อไปอีก อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของ "ยิ่งลักษณ์" จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ ลงโทษจำคุก ๕ ปี"

 

ที่น่าสนใจนั่นคือคลิปหลักฐาน ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบ  เรื่องการระบายข้าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2555 หรือหลังดำเนินโครงการมาแล้ว 1 ปี โดยวันนั้นเธอยืนยันว่า เห็นสัญญาซื้อขาย และตอบผิด ๆ ถูก ๆ จนลิ่วล้อซึ่งก็คือนายบุญทรง ต้องพูดแทรกกลางคัน....ว่าสัญญานั่นไม่ใช่ MOU ดังที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบนักข่าว แต่เป็น Sale Contract ไปเสียอีก

 

ซึ่งคำพูดของนางสาวยิ่งลักษณ์น่าจะมีนัยยะว่านางสาวยิ่งลักษณ์เห็นหรือรับรู้ แต่พูดผิดๆถูกๆ ที่ซ้ำร้าย กว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะปรับนายบุญทรงออกจากรัฐมนตรีพาณิชย์ ต้องใช้เวลานานถึง 7 เดือน นำไปสู่การระบายข้าวจีทูจีภาคสองอีก 14 ล้านตัน ซึ่งรอ ป.ป.ช.ชี้มูล ทางที่ดีรัฐบาลต้องรีบอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและนำคลิปนี้ไปหักล้างด้วย