ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายเงื่อนไขการเปิดประเทศ นำร่องที่ภูเก็ต เริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้ ว่า ถือว่ารัฐบาลเริ่มเดินมาถูกทางแล้ว ที่เริ่มมีการเปิดประเทศอย่างเป็นระบบ แต่ที่อยากให้เร่งรัดดำเนินการให้เร็วคือ แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งควรเร่งนำเข้ามากระจายให้เอกชน ที่พร้อมจะแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณให้กับรัฐบาล พร้อมควักเงินตัวเองร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว
แต่ตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีน ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น เป็นการสูญเสียโอกาสที่ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้น และยังตัดทางเลือกวัคซีนของประชาชนด้วย ซึ่งจะช่วยลดภาระรัฐบาลกลางได้ด้วย จึงอยากให้มีการทบทวนหนังสือฉบับดังกล่าว เปิดทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนมาบริหารจัดการภายในจังหวัดตัวเองได้
“ดิฉันคิดว่ารัฐต้องหยุดผูกขาดวัคซีนโควิด-19 แต่ควรหารือร่วมกับภาคเอกชน กำหนดแผนกระจายวัคซีนในส่วนของภาคเอกชนให้ชัดเจน คู่ขนานไปกับแผนเดิมของรัฐบาล ที่จะฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชน วางบทบาทเป็นผู้เจรจาแทนภาคเอกชน เพราะวัคซีนหลายยี่ห้อจะเจรจากับรัฐบาลเท่านั้น บางประเทศถึงขั้นใช้การฉีดวัคซีนเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ยิ่งช้าเท่าไหร่ เศรษฐกิจไทยก็ยิ่งเสียโอกาสเท่านั้น อย่าลืมว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยคิดเป็นร้อยละ 16-17 ต่อจีดีพี ถ้าวัคซีนยังล่าช้า การฟื้นเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก”
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ภาครัฐยังมีการประมาณการสถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ดีเกินความจริง ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ ว่าจะมีมากถึง 3 ล้านคน ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ตราบใดที่การเปิดประเทศยังล่าช้า การฉีดวัคซีนยังไม่ได้ตามเป้าหมาย
“ล่าสุดมีการทำโกดังหนี้ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือถ้าไม่รีบสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด แม้มีโกดังเก็บหนี้ แต่ผู้ประกอบการก็ไม่มีกำลังจ่ายหนี้อยู่ดี สุดท้ายก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี คนที่รอดทุกสถานการณ์กลายเป็นสถาบันการเงิน” ดร.พิมพ์รพี ระบุ