วันที่ 6 เม.ย. 2564 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ บอกถึงการเสนอยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ร่างไว้แล้วเบื้องต้น 6 ประเด็น ประกอบด้วย การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น ,การแก้ไขมาตรา 272 การตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และได้แก้ไขมาตรา 88 รวมถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี หากเกิดกรณีที่บุคคลที่เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง3 รายชื่อไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ให้รัฐสภาสามารถเสนอรายชื่อส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพื่อเป็นการยึดโยงว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง,
การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น มีการแก้ไขทั้งหมด 7 มาตรา ,การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบอำนาจรัฐให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของคณะกรรมาธิการในการเรียกหรือเชิญบุคคลมาชี้แจงได้ตามประธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 การแก้ไขการตรวจสอบอำนาจของป.ช.ช. ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจสอบได้ยาก โดยสามารถเสนอถอด ป.ป.ช. ได้ด้วยการยื่นต่อประธานรัฐสภา รวมถึง กกต.และองค์กรอิสระอื่นๆทั้ง กกต. และระบบการเลือกตั้ง ทั้งหมด4 มาตรา เช่น แบบเลือกตั้ง 400 เขต และบัญชีรายชื่ออีก 100 คน รวมถึงการตรวจสอบบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบการเมือง แต่ยังมีปัญหาเรื่องการคิดสัดส่วนบัญชีรายชื่อ จะใช้แบบสัดส่วนร้อยละอย่างเดิม หรือจะใช้สัดส่วนอื่นเข้ามาพิจารณา ซึ่งยังต้องมีการหารือกันอีกครั้ง
ว่าวันที่7-8 เม.ย. นี้จะหารือกับพรรคร่วมหากได้ข้อสรุปก็คาดว่าจะยื่นได้ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา ส่วนการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งส.ว.อาจจะไม่เห็นด้วย และจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายชินวรณ์ ระบุว่า ส่วนตัวมีความหวังเพราะการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา มีเสียงสนับสนุนจากส.ว.เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขทั้งฉบับ และจากนี้เป็นเรื่องที่จะ ต้องไปทำให้ตรงกับหลักการของรัฐธรรมนูญ เมื่อ ส.ว.ไม่ ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ควรมีสิทธิ์เลือกหรือโหวตนายกรัฐมนตรี แต่มีสิทธิ์ในการเสนอกฎหมาย พร้อมย้ำว่าในส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอำนาจส.ว.จะไม่เข้าไปแตะ และยังคงมีส.ว.ต่อไป
นายชินวรณ์ ยังบอกอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการถอดสลักที่สำคัญในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ที่อยู่ในกระแสเรียกร้อง หากบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมา แต่รัฐธรรมนูญและกติกายังไม่ได้รับการแก้ไข บ้านเมืองก็จะกลับมาอยู่ในวังวนเดิม หากรัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไขแล้วรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะไม่ต้องกลับมาพูดคุยเรื่องปัญหาโครงสร้างนี้ได้อีก และมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีความเป็นไปได้ ขอเพียงทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ การแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งตัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกไปได้ สามารถหาจุดร่วมของทุกฝ่ายได้ และขึ้นตอนการทำประชามติก็ทำได้เพียงครั้งเดียว