ความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติดต่อเนื่อง เมื่อทางพรรคเคาะจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จ.ขอนแก่น การประชุมครั้งนี้คาดการณ์ว่ามีวาระปรับเปลี่ยน “กรรมการบริหารพรรค” เพื่อเตรียมการรองรับการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จากนายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน โดยแคนดิเดตที่สำคัญคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรฯ ส.ส.พะเยา
+ เปิดข้อบังคับพรรค พปชร.
หลังกำหนดการประชุมใหญ่พรรคออกมาชัดเจนเพียงวันเดียว เช้าวันที่ 11 มิ.ย. “เสี่ยแฮงค์” นายอนุชา จูงมือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้กระแสการเปลี่ยนเลขาธิการพรรคร้อนแรงขึ้น แม้มีเสียงจากนายอนุชา แจกแจงว่าเก้าอี้แม่บ้านพรรค หัวหน้าพรรค (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นผู้ที่จะตัดสินใจสุดท้ายก็ตาม
หากย้อนดูข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ กำหนดให้การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ต้องดำเนินการในที่ประชุมใหญ่พรรค ไม่น้อยกว่า 250 คนการลงมติให้ถือเสียงข้างมาก ทั้งนี้การประชุมใหญ่ประกอบด้วย
1.กรรมการบริหารพรรค ปัจจุบันมี 27 คน
2.ผู้แทนสาขาพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรค ในจำนวนนี้ต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคไม่น้อยกว่า 2 สาขา ที่ต้องมาจากต่างภาคเดียวกัน ปัจจุบันมี 4 สาขาพรรค หรือประมาณ 80 คน
3.ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และ4.สมาชิกพรรค รวมถึงส.ส. ซึ่งปัจจุบันมีเสียงส.ส. 121 เสียง แต่หักนายพุทธ์พงษ์ ปุณณกันต์ ที่ถูกตัดสินจำคุกนาน 7 ปี จึงเหลือ ส.ส.120 คน
ส่วนขั้นตอนการเสนอชื่อผู้เข้ารับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง แต่ละตําแหน่ง ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมรับรองไม่น้อยกว่าสามสิบคน และให้ที่ประชุมเลือกตั้งทีละตําแหน่งเป็นลําดับไป และให้ใช้บัตรลงคะแนนเลือกตั้งโดยการลงคะแนนลับ
จากข้อบังคับพรรคดังกล่าว กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จึงอยู่ที่สมาชิกพรรค และส.ส. ไม่แปลกที่ "เสี่ยแฮงค์" กับ “ผู้กองธรรมนัส” ต้องประลองกำลังด้วยการระดม ส.ส.และสมาชิกพรรค เพื่อโหวตหนุนตนเองในการประชุมใหญ่ฯที่จังหวัดขอนแก่นให้มากที่สุด
+เปิดขุมกำลัง “ธรรมนัส”
เป็นที่รู้กันดีว่าในพรรคพลังประชารัฐ มีกลุ่ม หนุนร.อ.ธรรมนัส ท้าชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรค นำโดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง แกนนำกลุ่มเพชรบูรณ์ ,นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.แรงงาน ที่มีนายวิรัฐ รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล จากกลุ่มโคราช
ร.อ.ธรรมนัส มีส.ส.ในสังกัดจากภาคเหนือ (ยกเว้น จังหวัดกำแพงเพชร) ประมาณ 10 คน กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ที่ร.อ.ธรรมนัส ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช สงขลา และภูเก็ต ถ้ารวม นายชาญวิทย์ วิภูศิริ และนายจักรพันธุ์ พรนิมิต ส.ส.กลุ่ม กปปส. ทำให้มีเสียงส.ส.ในสังกัดอีกประมาณ 60 คน
บทบาท ร.อ.ธรรมนัส ที่ผ่านมาได้รับเสียงชื่นชมจากสมาชิกพรรค ได้ดูแล ส.ส.ในพรรคเป็นอย่างดี และยังสามารถขยายอิทธิพลผ่านกระบวนการเลือกตั้ง “ซ่อม” ที่ทำให้ได้รับชัยชนะ ในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัด ลำปาง กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช และขอนแก่น ตลอดจนการเตรียมศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ร.อ.ธรรมนัส จะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่นับรวมบทบาทเป็นมือประสานกับทุกพรรคได้เป็นอย่างดี
ขณะที่"กลุ่มสามมิตร" ที่หนุนนายอนุชา ให้นั่งเก้าอี้เลขาฯพรรค ประกอบด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มียอดส.ส.ในขณะนี้ ราว 25 คน
ใครเสียงหนุนมากย่อมได้นั่งเก้าอี้แม่บ้านพรรค ที่สำคัญในพรรครู้ดีว่าใคร ใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” ศูนย์อำนาจใหญ่ของพรรค ประชุมใหญ่ฯครั้งนี้จึงต้องลุ้นกันระทึก