แม้รัฐบาลยังไม่ประกาศให้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 แต่ปัจจุบันกลับพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสลุกลามรุนแรง กระจายตัวทั่วประเทศ สะท้อนข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม มีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศ เพียง 50 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหาย 33 ราย
ทั้งนี้มีการประเมินกันว่า ช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานเกือบ 40 เท่า หรือ 39.56 เท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน) พบผู้ติดเชื้อมากถึง 1,978 ราย เสียชีวิต 19 ราย และ มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นโดยอ้างอิงจาก กระทรวงสาธารณสุขที่พบยอดผู้ติดเชื้อแต่ละวันไม่ตํ่ากว่า 100 ราย แม้จะรักษาหายแล้วกว่า 500 ราย
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เชื้อนี้จะไม่กลับมาใหม่ ขณะรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน หน่วยงานราชการ ขอใช้สถานที่โรงพยาบาลและโรงแรม จำนวน 10,000 หน่วย เป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามท่ามกลางความไม่พร้อมของบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ที่รักษาโรคนี้โดยตรงแต่เป็นที่น่าชื่นชมแพทย์และพยาบาลไทยที่สามารถรักษาผู้ป่วย จนกระทั่งหาย อีกทั้งความร่วมมือแต่ละจังหวัด ตลอดจนประชาชนต่างช่วยชะลอการระบาดด้วยมาตรการต่างๆ หลังจุดพลิกผันมาจาก “สนามมวย”
นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการคาดการณ์ ช่วงเดือนกรกฎาคม จะพบผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 มากที่สุด แต่ปรากฏว่าขณะนี้เกิดการระบาดรุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้น โรงพยาบาลธนบุรี ได้ปรับแผนรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ใหม่ โดยจัดเตรียมพื้นที่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือไอซียูจำนวน 70 ห้อง
ประกอบด้วย โรงพยาบาลธนบุรี 1 ถนนอิสรภาพ บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จำนวน 40 ห้อง รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยฆ่าเชื้อไวรัสแบคทีเรีย ห้องทำลายเชื้อความดันลบ ไม่ให้เชื้อหมุนเวียนกลับเข้าปอด หรือแพร่ระบาดภายในโรงพยาบาล ล่าสุดแล้วเสร็จ 20 ห้อง
โดยแยกอาคารออกจากโซนรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วไป ขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแปลง อาคารทำเลบางซื่อ ถนนกำแพงเพชร เนื้อที่ 3 ไร่เดิม เตรียมพัฒนาเป็นจุดคัดกรองผู้ติดเชื้อ ปัจจุบันปรับเป็นโรงพยาบาลฉุกเฉิน ไอซียู รับผู้ป่วยโควิดรุนแรงอีกจำนวน 30 เตียง พร้อมอุปกรณ์ทำลายเชื้อที่ทันสมัย
ขณะโรงพยาบาลสนาม มี 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ปลายถนน โรงพยาบาลธนบุรี 1 จำนวน 70 ห้อง และ โซนอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ทำเลประชาอุทิศ จำนวน 200 ห้อง ที่พร้อมให้บริการ
หมอบุญ สะท้อนต่อว่า นอกจากโรงพยาบาลฉุกเฉิน และโรงพยาบาลสนามแล้ว ยังนำ คอนโดมิเนียม ภายในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ รังสิต เกือบ 700 หน่วย ปรับเป็น เซฟตี้โซน ป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากโควิด สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุราว 80 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวรุนแรง อย่างเบาหวาน ความดัน ปอด ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้บุตรหลานได้คลายความวิตกกังวลลงได้
สำหรับคำถามที่ว่า เมื่อใดการแพร่ระบาดจะหมดไป หมอบุญ ระบุว่าการระบาดจะยุติลงได้ยาก เพราะกลายเป็นเรื้อรัง เพียงแต่ต้องรอให้ไวรัสตัวนี้อ่อนแรงลงกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา โดยมีวัคซีนรักษา ขณะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ทีมแพทย์ไม่ทันตั้งรับ อย่างชุดอวกาศ มีข้อจำกัด
โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่ต้องการเครื่องสเตอร์ไรด์ หรือ STR ทำลายเชื้อในอากาศ ห้องความดันลบเพิ่มขณะห้องฉุกเฉิน หรือไอซียู ทั่วประเทศมีเพียง 8,000 ห้อง แต่มีห้องฆ่าเชื้อไวรัสห้องความดันลบเพียง 200 ห้อง เชื่อว่า ไม่น่าเพียงพอกับผู้ติดเชื้อ
ตัวแปรที่ทำให้เชื้อโควิดแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมีจุดพลิกผันมาจากสนามมวยลุมพินี ที่มีผู้ชมนับ 10,000 คน และประชาชนเดินทางกลับ ภูมิลำเนาภายหลังจากกรุงเทพมหานครมีคำสั่งปิดห้าง สถานบริการ ร้านค้าต่างๆ ส่งผลให้เชื้อแพร่กระจาย
อย่างไรก็ตามในฐานะแพทย์ มองว่าหากรัฐบาลปฏิบัติการเด็ดขาดเหมือนอู่ฮั่น ประเทศจีน คุมให้อยู่แค่กรุงเทพฯ ผลกระทบจะไม่รุนแรง แต่รัฐบาลใช้มาตรการผ่อนปรนตามแบบประเทศอิตาลี กับสหรัฐอเมริกา และเพิ่งจะมายกระดับในระยะนี้ แต่การติดเชื้อก็ขยายไปไกลแล้ว
“ยอมรับว่า โควิด-19 แพร่เร็วจากเดิมเคยคาดการณ์ว่าระบาดมากที่สุดกรกฎาคม แต่ขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว จึงต้องปรับแผนรับมือด่วน”
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563