กทม.ป่วนภาษีที่ดิน ชาร์จบ้านเป็นที่รกร้าง

13 มิ.ย. 2563 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2563 | 12:27 น.

ชาวบ้านช็อก บ้านอยู่อาศัยกลับมีบิล จากท้องถิ่น เรียกเก็บ ภาษีที่ดินเป็นที่รกร้าง อปท.- 50 เขตทั่วกรุงอลหม่านเขตลาดพร้าว ใช้ฐานข้อมูลที่ดินเก่า บ้าน 2 ชั้นแจ้งชั้นเดียว พร้อมเปิดยื่นคำร้อง นอกเวลา ราชการ ถึง 2 ทุ่มและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ กรมส่งเสริมระบุ เริ่มเสียภาษี 1 สิงหาคม กลับมีท้องถิ่นจำนวนมาก ยื่นขอขยายเวลา

เหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือนหรือวันที่ 1 สิงหาคมจะถึงกำหนดชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ต้องประเมินและออกใบแจ้งการเสียภาษี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน แต่กลับพบว่า ท้องถิ่นหลายแห่ง ยังไม่มีความพร้อม และขอเลื่อนการออกใบแจ้งการเสียภาษี ต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นออกไปอีก 1 เดือน เนื่องจากการประเมินยังไม่แล้วเสร็จ อีกทั้ง ยังเกิดข้อผิดพลาด ประชาชน ยื่นคำร้อง แก้ไข ใบแจ้ง ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง กระทั่งชาวบ้านถึงขั้นนั่งไม่ติดที่

คนลาดพร้าวป่วน

ทั้งนี้ ความชุลมุลเกิด ขึ้น เมื่อชุมชนเขตลาดพร้าวได้รับใบแจ้งเสียภาษี เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ จำนวนหลายหลังคาเรือน ทั้งบ้านอยู่อาศัยปลูกสร้างเองและในหมู่บ้านจัดสรรเก่าแก่ ซึ่งประเมินว่าอาจเกิดการลักไก่หรือไม่ก็อาจคำนวณไม่ทัน

แหล่งข่าวจาก กลุ่มชาวบ้านย่านโซคชัยสี่และในซอยนาคนิวาส แจ้งว่าเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีหนังสือมาจากนายวุฒิพงษ์ มนัส ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่งถึงบ้าน โดยระบุว่าบ้านเลขที่ของผู้ได้รับจ.ม.ว่าเป็นพื้นที่รกร้างต้องไปเสียภาษีตามที่เขตแจ้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อแต่ละบ้านได้รับจดหมาย ต่างโทรศัพท์ติดต่อไปยังเขตแจ้งว่าที่ดินเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยแต่ละหลังมีบ้านเรือนพักอาศัยมานานนับ 10-20 ปี ล่าสุด ต่างเดินทางไปยังเขตลาดพร้าวเพื่อขอแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องดังกล่าว

“ไม่เข้าใจว่าทำไมทางการถึงมีข้อมูลแจ้งมาแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลาไปแสดงยังเขตยืนยัน และน่าจะเป็นความบกพร่องของกรมที่ดินกับกทม.ที่มาบอกว่าบ้านอยู่อาศัยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า”

 

บ้านจัดสรรโดนยกแผง

“ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่ สำนักงานเขต ลาดพร้าว ช่วงเช้าวันที่ 10 มิถุนายน ตามข้อร้องเรียน พบประชาชนจำนวนมาก เดินทางติดต่อ ขอยื่นคำร้องแก้ไขประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินจนล้นออกมานอกห้องรับบริการ โดยแทบทุกรายมีอาการกระวนกระวายใจ ทั้งเสียเวลาในช่วงโควิด ต้องปฏิบัติตาม มาตราการการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งยังเสียเวลาการประกอบอาชีพ หากไม่ยื่นคํ้าร้องขอแก้ไขเกรงว่า จะได้รับผลกระทบจากการมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทั้งนี้ ผู้มาติดต่อขอรับบริการรายหนึ่ง ระบุว่า ได้ซื้อบ้านจัดสรในโครงการเกตุนุติ เชอมิเน่ 87 ซึ่งเธอเป็นคนหนึ่งที่ ถูกเรียกเก็บภาษีให้เป็นที่รกร้าง นอกจากนี้ ยังขยายความต่อว่า ทั้งหมู่บ้านที่อยู่ ถูกเรียกเก็บเช่นเดียวกับเธอ รวมทั้งหมู่บ้านอื่นอีกในระแวกเดียวกัน ต่างพบเจอ เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ที่สำคัญ ยังเป็นบ้านหลังแรกที่ซื้อ ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่อยู่ในข่ายเสียภาษี

 

“เขต”รับข้อมูลเก่า

เมื่อ สอบถามไปไปยัง เจ้าพนักงาน เขตลาดพร้าว ได้รับคำตอบว่า ข้อมูลที่ได้เป็นฐานข้อมูลเก่าของกรมที่ดิน ที่จัดเก็บมานานหลายสิบปี ยอมรับ ว่าไม่คาดคิดว่าจะเกิดข้อผิดพลาด แตกต่างกันมาก จากบ้านอยู่อาศัยกลายเป็นที่รกร้าง หลายหลังคาเรือน บางแปลงเป็นบ้าน 2 ชั้นแต่คำนวนเป็นชั้นเดียว บ้าน 2 ชั้นคำนวนเป็นร้านค้า อาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไข มีประชาชนยื่นคำร้องขอแก้ไข เฉลี่ยวันละ 200-300 คน ต่อวัน

นอกจากนี้ยังต้องทำหนังสือขอขยายเวลาการประเมินและวางบิล เลื่อนไปอีก 1 เดือน จากปกติต้องแล้วเสร็จ ภายในเดือนมิถุนายน เนื่องจากเจ้าพนักงานมีเพียง 4 นายเมื่อเทียบปริมาณทรัพย์สิน กว่า 5 หมื่นรายการ ในพื้นที่ยังไม่รวมแปลงที่ดินที่ต้องประเมิน อย่างไรก็ตามเชื่อว่ามีปัญหาทุกสำนักงานเขต และท้องถิ่นในส่วนภูมิภาค ที่ไม่มีความเชียวชาญ

เนื่องจาก มีคำร้อง และการแก้ไขรายการประเมินภาษีจำนวนมาก เขตลาดพร้าวจะเปิดให้บริการนอกเวลาราชการ ถึง 20.00น. และ ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เริ่มวันที่ 13 มิถุนายนเป็นวันแรก ซึ่ง มองว่าทุกสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และท้องถิ่นต่างจังหวัดจะต้องขยายเวลาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องเจอ

ที่สำคัญ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแห่งใช้วิธี เว้นที่ว่างให้ประชาชนเจ้าของที่ดินเป็นผู้ระบุว่า ทรัพย์สินที่ถือครองเป็นอะไรแทนเจ้าหน้าที่เพื่อความรวดเร็วเพียงมีฐานข้อมูลพื้นที่ไว้เทียบเคียงเท่านั้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานเขต พระโขนงกล่าวว่า เขตมีพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบไม่มากเหมือน ลาดพร้าว ดังนั้นปริมาณงานไม่มากแต่ยอมรับว่า มีปัญหา ไม่ต่างกัน

ขยายเวลาเกือบทุกจังหวัด

แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า วันที่1สิงหาคม จะเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดิน แต่ท้องถิ่นแทบทุกจังหวัดยังขอขยายเวลา ประเมินวางบิล มายังกรม จากเดิมต้องสิ้นสุดในเดือนนี้ แต่กลับขอขยายไปยังเดือนหน้าอีก 11 เดือนหรือบางแห่ง ขอ15วัน สะท้อนว่า ยังไม่เรียบร้อย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563