ภาษีที่ดิน  อาคารนับล้านสำรวจไม่ทัน กทม.-เมืองใหญ่ป่วน 

14 มิ.ย. 2563 | 00:00 น.

ภาษีที่ดิน ป่วน กทม.-เมืองใหญ่ อ่วมภาษีที่ดินดีเดย์จัดเก็บ 1 ส.ค. รับสำรวจสิ่งปลูกสร้างนับล้านหลังเพื่อทำบัญชีประเมินไม่ทัน เผยที่ผ่านมา มีแต่หลักฐานทางที่ดินโฉนด นส.3 จากกรมที่ดินเท่านั้น ยันอปท.พร้อมรับมือคลื่นมหาชนเสียภาษีแน่น

วันที่ 1สิงหาคม 2563 ถึงเวลายื่นเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีงบประมาณ 2563 แต่ดูเหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วทั้งประเทศ ยังชุลมุนไม่มีความพร้อม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และเป็นปีแรก แม้ที่ผ่านมาได้เลื่อนการจัดเก็บไปแล้วครั้งหนึ่งก็ตาม ขณะปัญหาใหญ่คือฐานข้อมูลที่ดิน แม้มีการเชื่อมโยงกับระบบของกรมที่ดิน แต่ด้วยจำนวนอาคาร แปลงที่ดินที่เกิดขึ้นมาก มีทั้งการปรับปรุงอาคารใหม่ การเปลี่ยนมือ การแบ่งแยก ยุบรวมแปลงพัฒนาตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ใช่ปัจจุบันอย่างที่เข้าใจ บางแปลงอาจคลาดเคลื่อนจนเกิดการยื่นคำร้องขอแก้ไข สร้างความปั่นป่วนให้กับประชาชน ตลอดจนเจ้าพนักงานเป็นอย่างมาก

ภาษีที่ดิน   อาคารนับล้านสำรวจไม่ทัน กทม.-เมืองใหญ่ป่วน 

ที่สำคัญกว่านั้น กรมที่ดินมีแต่บัญชีที่ดินรายแปลงโฉนดที่ดิน นส.3 ฯลฯ กรมธนารักษ์มีเฉพาะราคาประเมินที่ดินกว่า 30 ล้านแปลงทั่วประเทศ แต่สำหรับบัญชีราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างแล้วในประเทศไทยยังไม่มีใครจัดทำไว้ จึงเป็นภาระของท้องถิ่นตามอำนาจหน้าที่ ต้องสำรวจแยกชิ้นส่วน จัดทำบัญชีสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาเพื่อติดประกาศรายการอัตราการที่อยู่ในข่ายจัดเก็บให้เป็นสาธารณะภายในเดือนมิถุนายน

แต่เท่าที่ทราบ เจ้าพนักงานมีจำกัดไม่สามารถสำรวจได้ทัน เมื่อเทียบกับปริมาณอาคารจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีบ้านมากกว่า 2 ล้านหลังคาเรือน ยังไม่รวมตึกสูง อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม ศูนย์การค้า อีกทั้งจังหวัดที่มีความเจริญอย่างปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ จึงเป็นไปได้ที่หลายท้องที่จำต้องใส่ข้อมูลที่ผิดพลาดลงไปเพื่อแก้สถาณการณ์เฉพาะหน้า

อย่างไรก็ตาม เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือน 15 วันท้องถิ่น ใช้เวลาช่วงนี้แก้ไข รับคำร้อง ก่อนประเมินทรัพย์สินว่าจะเสียภาษีประเภทใด มากน้อยแค่ไหน เพื่อออกบิลเรียกเก็บให้ถูกต้อง มองว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ เกิดขึ้นแทบทุกอปท. และอาจเปิดให้บริการประชาชนนอกเวลาราชการ ไม่เว้นวัดหยุดสุดสัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ส่วนจัดเก็บรายได้ไม่เคยเปิดให้บริการประชาชน เช่นเดียวกับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเสียภาษี อาจเปิดให้บริการยันเที่ยงคืนเหมือนเหตุการณ์ลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ ของกรมที่ดินจะสิ้นสุดลงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งก็เป็นได้

ขณะดีเวลอปเปอร์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเสียภาษีจากมูลค่าทรัพย์สิน แม้รัฐบาลจะออกพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ลดอัตราภาษีที่ดินทุกประเภท ในปี 2563 ลง 90% ทว่าสถานการณ์โควิด-19 สร้างความบาดเจ็บอย่างมาก ไม่สามารถพลิกฟื้นตัวได้ในเร็ววัน จึงขอให้รัฐบาลเลื่อนการจัดเก็บภาษีตัวนี้ออกไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

ด้านความพร้อม แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่สามารถเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินได้อีกต่อไป เนื่องจากกฎหมายกำหนดชัดต้องเริ่มจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2563 ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ลดภาษีลง 90% และในปีต่อไปจะลดต่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ทุกคนที่อยู่ในข่ายเสียภาษีต้องไป ชำระภาษีให้ทันตามเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดคลาดเคลื่อน จนเกิดความวุ่นวายเกิดจากเจ้าพนักงาน อาจไม่ได้ลงสำรวจ หรืออาจสำรวจไม่ทัน กรณีการจัดทำบัญชีราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างที่มีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าพนักงาน นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคเจ้าของอาคารไม่ให้ความร่วมมือ อาคารหลายหลังเหมือนถูกปิดตาย ไม่สามารถเข้าพื้นที่ประเมินราคาได้ ทำให้การแจ้งบิลเสียภาษีจึงผิดประเภทไป แต่ทั้งนี้ เจ้าของทรัพย์สินสามารถยื่นอุธรณ์ได้ หลังจากเสียภาษีแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน ขณะวันที่ 1 สิงหาคม ยังประเมินไม่ได้ว่าทั่วประเทศจะมีคนมาติดต่อเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน

ภาษีที่ดิน   อาคารนับล้านสำรวจไม่ทัน กทม.-เมืองใหญ่ป่วน 

“กรมที่ดินจะมีเฉพาะโฉนด นส.3 นส.3ก.ฯลฯ แต่ปัญหาใหญ่ ไม่มีหน่วยงานใดเคยทำบัญชีราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ท้องถิ่นต้องรับภาระ”

แหล่งข่าวจากกทม. ระบุว่า ยอมรับไม่สามารถสำรวจได้ทัน ที่ผ่านมาได้ขอข้อมูลจากกรมที่ดิน และปริมาณอาคารที่ได้รับอนุญาต ส่วนคอนโดมิเนียมได้ขอข้อมูลจากนิติบุคคล ให้รวบรวมจำนวนห้องให้ 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563