เมื่อกลุ่มดุสิตธานีและเซ็นทรัลพัฒนา เตรียมเผยโฉมโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คที่มาพร้อมแนวคิด Here for Bangkok โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บริเวณหัวมุมถนนสีลมตรงข้ามสวนลุมพินี ที่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ของกรุงเทพมหานครในย่านสีลมให้เจิดจ้าและคึกคักมากกว่าเดิม เพราะแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงทุกไลฟ์สไตล์กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่ พิมพ์เขียวของโครงการกำลังบอกเทรนด์การพัฒนาที่ดินและเมืองด้วยความทันสมัยและสะดวกสบาย จึงเป็นที่มาของการเปิดมุมมองของทีมออกแบบชั้นนำหรือ สถาปนิก A49 ว่าด้วยเรื่องของทำเลและการออกแบบงานสถาปัตยกรรมสำหรับโครงการนี้
“หากเคล็ดลับความสำเร็จสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คือ ทำเล เคล็ดลับความสำเร็จของนักออกแบบและสถาปนิก คือ การออกแบบอาคารให้เข้าคู่กันอย่างเหมาะสมระหว่างดีไซน์กับทำเลที่ต้องอยู่ในระดับการเติบโตและพัฒนาระดับเดียวกัน และเป็นที่ชื่นชมของผู้คนรอบข้าง” นายสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) กล่าว
เรากำลังพูดถึงดีไซน์พิมพ์เขียวโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คในเครือดุสิตธานีที่กำลังเดินหน้าปรับที่ดิน 23 ไร่หัวมุมถนนสีลม ฝั่งตรงข้ามสวนลุมพินี ซึ่งบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด เป็นผู้ดูแลงานออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งหมดของกลุ่มอาคาร 4 อาคาร 4 ประเภทธุรกิจ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2567
“จุดสำคัญที่คล้ายกันของ CBD ในกรุงเทพฯ ที่เป็นทำเลศักยภาพย่านธุรกิจ จะเป็นทำเลที่มีการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที และอยู่ตรงหัวมุมถนน คือ ทำเลแยกอโศก-สุขุมวิท และแยกสีลม-พระรามสี่ ตรงนี้ผมถือว่าเป็น Traffic ที่ชี้ให้เห็นศักยภาพการเติบโตและขยายตัวของเมืองและธุรกิจได้ดี แต่ความพิเศษของหัวมุมถนนสีลม ซึ่งเป็นทำเลของดุสิตธานี ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Emotion จากมุมมองติดธรรมชาติของสวนลุมพินีซึ่งอยู่ตรงข้ามกับทำเลพอดิบพอดี ซึ่งเราทุกคนต่างก็ทราบกันดีว่าไม่มีทำเล CBD ตรงไหนที่มีครบทั้ง Traffic และ Emotion เหมือนสีลม”
“ทำเลหัวมุมถนนสีลม ไม่ว่าในยุคสมัยไหนก็ถือว่าเป็นทำเลระดับไฮเอนด์และลักชัวรี่เสมอ สภาพทำเลเช่นนี้จึงเหมาะสำหรับการสร้างโรงแรมระดับห้าดาว และดุสิตธานีก็เล็งเห็นถึงความสำคัญและกำลังเปลี่ยนตัวเองไปสู่จุดนั้น นี่เป็นเรื่องของความเข้ากันได้ของการพัฒนาเมืองไปข้างหน้าตามเทรนด์ของโลกที่พื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจของมหานครใหญ่ทั่วโลกจะก้าวต่อไป เมื่อทำเลพัฒนาตัวเองไปแล้ว นักพัฒนาที่ดิน เจ้าของธุรกิจก็ย่อมเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกัน ไม่เช่นนั้นธุรกิจหรือสิ่งก่อสร้างในที่ดินนั้นจะกลายเป็นสิ่งอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของเมือง และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไปได้”
โจทย์ของ A49 จึงเป็นเรื่องของการออกแบบกลุ่มอาคารที่มีพื้นที่ก่อสร้างรวมกว่า 400,000 ตารางเมตรบนสุดยอดทำเลถนนสีลม ความหมายทั้งหมดของคำว่าหรูหรา ทันสมัย โดดเด่น มีระดับ มีเอกลักษณ์ และมีเรื่องราวแต่ยังคงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรมอันงดงามจากอดีต ซึ่งจะถูกรวมอยู่ในการปรากฏโฉมของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่จะได้รับการยอมรับและจดจำในระดับสากลในฐานะไอคอนิคแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่จะดึงดูดคนจากทั่วโลกให้ต้องมาเยือน เป็นได้ทั้งจุดหมายสำหรับการท่องเที่ยว และเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการใช้ชีวิตทั่วไปของผู้คน เช่นเดียวกับที่เราชื่นชมและจดจำโครงการมารีน่า เบย์แซนด์ ของสิงคโปร์ และฮัดสันยาร์ด นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
วิธีคิดงานของสถาปนิกจะมองเรื่องของการใช้งานพื้นที่เป็นหลักใหญ่ แนวคิดการออกแบบมิกซ์ ยูสกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ก็นำเรื่องการใช้งานมาเป็นตัวปักหมุด เมื่อวางเลย์เอ้าท์กับขนาดที่ดินได้แล้วจึงมาปรับตำแหน่งของแต่ละอาคารไม่ให้บดบังกันเพราะกลุ่มอาคารทั้งหมดจะต้องมองเห็นสวนลุมพินีได้ทุกอาคาร
“สำหรับอาคารโรงแรม เราต้องผสมผสานในเรื่องหลักๆ เข้าด้วยกันคือ การออกแบบในพื้นที่ที่จำกัด โดยทุกห้องพักต้องมองเห็นวิวสวนลุมพินี แม้จะเป็นโรงแรมหรูห้าดาวที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับอาคารสูงอื่นๆ ก็ต้องมีความโดดเด่นเสมือนว่าเป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่เป็นตึกเดียว (stand alone) และส่วนสำคัญที่สุดคือการผนวกทุกสิ่งที่เป็นมรดก (heritage) ของดุสิตธานีมาประยุกต์เข้ากับอาคารใหม่ เราจึงต้องมาวิเคราะห์เจาะลึกทุกเรื่อง ทั้งการใช้งาน การออกแบบ รวมไปถึงการหาแรงบันดาลใจมาจากของเดิมเพิ่มเติมให้กลายเป็นของใหม่เข้ากับยุคสมัย”
ในพิมพ์เขียวงานดีไซน์ชุดนี้จะเห็นว่า พื้นที่ทั้งหมดของดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ถูกจัดสรรออกเป็นส่วนจอดรถชั้นใต้ดิน 4 ชั้นและกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ 4 อาคาร 4 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย โรงแรมดุสิตธานี อาคารสูง 39 ชั้นจากเดิม 23 ชั้น ในภาพลักษณ์ระดับโรงแรมห้าดาว หรูหราและมีความโดดเด่นของตัวอาคารแม้จะอยู่ท่ามกลางกลุ่มอาคารอื่นๆ งานสถาปัตยกรรมถอดแบบเอกลักษณ์พิเศษทุกรายละเอียดอันถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปะของไทยมาจากดุสิตธานีเดิมที่สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ โดยหลักๆ ยังคงรูปแบบพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สร้างเป็นยอดแหลมเหนืออาคารไว้เช่นเดิม โครงสร้างสถาปัตยกรรมของโรงแรมดุสิตธานีใหม่ที่ยังคงรับแรงบันดาลใจในแบบเดิมไว้ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐานคือ ล็อบบี้ ห้องอาหาร และห้องนภาลัยบอลรูม และส่วนยอดเป็นรูฟ ท็อปบาร์ และยอดเสาแหลมอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี ออกแบบในรูปทรงเดิมทุกประการ แต่ขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับอาคารที่ใหญ่กว่าเดิม โดยยอดเสาเดิมจะถูกติดตั้งไว้ภายใน แล้วนำยอดเสาใหม่ครอบลงไป
การออกแบบห้องพักให้ความเป็นส่วนตัวสูงสุดด้วยขนาดห้องที่ใหญ่ขึ้นและทำให้จำนวนห้องพักลดลงจากเดิม 510 ห้อง เหลือเพียงจำนวน 259 ห้อง ขณะเดียวกันก็ต้องมีดีไซน์ทันสมัยทัดเทียมมาตรฐานสากล และด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของงานออกแบบที่ต้องจัดเลย์เอ้าท์ให้ห้องพักของโรงแรมทั้งหมด มองเห็นวิวสวนลุมพินี 100% โรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่จึงปักหมุดพื้นที่ด้านหน้าโครงการรับมุมมองสวนลุมพินีได้พอดี
“ในส่วนเรสซิเดนเซส หลักคิดจะมาจากโจทย์ ‘ความเป็นส่วนตัวสูงสุด’ เพราะนี่คือกลุ่มอาคารที่กลุ่มเป้าหมายคือระดับลักชัวรีและไฮเอนด์ ทุกยูนิตต้องมองเห็นวิวสวนลุมพินี การออกแบบรูปแบบอาคารจะเน้นความอยู่สบาย โปร่งโล่ง สัมผัสธรรมชาติ มีวิวสวนลุมฯ ในแต่ละยูนิตจะโปร่ง ไม่มีจุดอับ ซึ่งเราตั้งใจออกแบบให้เลย์เอ้าท์ทุกยูนิตหันหน้าเข้าสวนลุมพินีได้ทั้งหมด และมุมมองในแต่ละห้องในทุกยูนิตไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องนอน ก็สามารถเทควิวธรรมชาติของสวนลุมพินีได้ด้วย
ดุสิต เรสซิเดนเซส เปิดโฉมในรูปแบบดีไซน์อาคารสูง 69 ชั้นรวม 389 ยูนิต ปักหมุดอยู่ในตำแหน่งของโรงแรมดุสิตธานีเดิม และเพื่อตอบโจทย์ที่เน้นความเป็นส่วนตัวสูงสุด แบ่งเป็นส่วนพักอาศัยในอาคารเดียวกันเป็น 2 แบรนด์สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสองกลุ่มหลัก คือ ดุสิต เรสซิเดนเซส ที่พักอาศัยระดับลักชัวรี่ขนาดยูนิตเริ่มต้น 120 ตารางเมตร มีล็อบบี้ลิฟท์ส่วนตัวและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ให้ความเป็นส่วนตัวมากที่สุด อีกแบรนด์คือดุสิต พาร์คไซด์ ยูนิตเริ่มต้น 65 ตารางเมตร เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ระดับไฮเอนด์ ต้องการความเป็นส่วนตัวและมีไลฟ์สไตล์
อาคารสำนักงาน (เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส) ความสูง 45 ชั้น ทำเลถนนสีลม ณ จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีตอบโจทย์ธุรกิจได้ตรงที่สุด
“สำหรับอาคารสำนักงาน ซึ่งเป็นอาคารสูง 45 ชั้น โจทย์การออกแบบคือตำแหน่งที่ตั้งของอาคารจะต้องเชื่อมต่อกับการเดินทางสาธารณะได้ง่าย ซึ่งทำเลหัวมุมถนนสีลมตรงนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดง และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีสถานีสีลม นี่คือทำเลที่สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้ธุรกิจเช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ การออกแบบพื้นที่แต่ละชั้นให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด การวางเลย์เอ้าท์ในแต่ละชั้นเน้นฟังก์ชั่นและความทันสมัย และสำคัญที่สุดคือ เกือบทั้งหมดของพื้นที่อาคารสำนักงานยังสามารถชมวิวธรรมชาติของสวนลุมพินีได้ด้วย
ศูนย์การค้า (เซ็นทรัล พาร์ค) ถูกออกแบบให้เป็นอาคารโลว์ไรส์เชื่อมต่อกับอาคารสำนักงาน มีทั้งส่วนที่เป็นศูนย์การค้าชั้นใต้ดินและบนดินเพื่อให้สอดรับกับการออกแบบเส้นทางคมนาคมบริเวณหัวถนนสีลมซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อบีทีเอสและเอ็มอาร์ที
อย่างไรก็ตาม ความเป็นดุสิต เซ็นทรัล พาร์คจะไม่อาจเป็นเซ็นทรัลพาร์คได้สมชื่อหากขาดจุดเด่นสำคัญของการออกแบบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของโครงการ ดีไซน์ในส่วนนี้เรียกว่ารูฟพาร์ค (Roof Park)เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ถูกโอบล้อมด้วยกลุ่มอาคารทั้งสี่ สวนธรรมชาติที่สร้างขึ้นนี้มีขอบเขตพื้นที่รวม 7 ไร่ เริ่มตั้งแต่ระดับอาคารชั้น 4 ของอาคารศูนย์การค้า ไต่ระดับขึ้นไปสู่ชั้น 5 ชั้น 6 และชั้น 7 ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดเด่นสำคัญของโครงการที่แสดงให้เห็นการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุดเพื่อสาธารณประโยชน์
รูฟพาร์คเกิดจากแนวคิดที่ต้องการเชื่อมต่อมุมมองสวนลุมพินีไล่ขึ้นไปแบบขั้นบันได เมื่อมองมาจากกลุ่มอาคาร จะเสมือนว่ากำลังอยู่บนเนินเขา ขอบเขตธรรมชาติจะมองเห็นการเชื่อมต่อจากรูฟพาร์คสู่สวนลุมพินีโดยไม่มีสิ่งใดบดบังสายตา ในขณะที่หากมองมาจากสวนลุมพินี จะเห็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเสมือนเป็นเนินเขาขนาดเล็กอยู่ท่ามกลางหมู่ตึกสูงใจกลางเมือง
“ตรงนี้คือหัวใจของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เราออกแบบรูฟพาร์คให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย วิ่ง ขี่จักรยาน หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานอดิเรก แสดงงานศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ตรงนี้จะเป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเกิดรูปแบบไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง” นายสมเกียรติ ให้ความเห็นเพิ่มเติม
อีกไม่ช้า คนกรุงเทพฯ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่จะก่อรูปขึ้นร่างมาเป็น ‘ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค’ โครงการมิกซ์ยูสที่จะพลิกฟื้นความยิ่งใหญ่ของ CBD ถนนสีลม ให้กลับมาเปล่งประกายเจิดจ้าท้าทายสายตาชาวโลกในฐานะเกตเวย์แห่งศูนย์กลางธุรกิจยุคใหม่ของกรุงเทพมหานคร