เวนคืน 3,000หลัง ลากไฮสปีด ‘อู่ตะเภา-แกลง’

02 ส.ค. 2563 | 23:00 น.

“รฟท.” เคาะ ช่วงแรกไฮสปีดอีอีซีเฟส 2 “อู่ตะเภา-แกลง” 100 กม. เวนคืนกระอัก 2-3 พันหลังคาเรือน 4 หมื่นล้าน ส่วน สถานีจันทบุรี-ตราด รอระยะถัดไป

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนส่งมอบพื้นที่ ก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อูตะเภา ) ระยะแรก 220 กิโลเมตร ช่วง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้กับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี และพันธมิตร ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ล่าสุดรฟท. เดินหน้าประชุมประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน (มาร์เก็ต ซาวดิ้ง) ไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ต่อเนื่องทันที

 

ขณะผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น สรุปชัดเจนว่า หากมีการดำเนินโครงการพร้อมกันทั้งเส้นทาง จากจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 190 กิโลเมตร ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 5.3% ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่รับกำหนด 12% มาก ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ รฟท. อาจก่อสร้างช่วงแรกก่อน คือต่อขยายจากสถานีอู่ตะเภา ไปยังสถานีระยองและสถานีแกลง รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 9% ซึ่งคุ้มค่ากว่าการสร้างตลอดทั้งเส้นทาง ส่วนช่วงจากสถานี อ.แกลง ไปยังสถานีจันทบุรีและสถานีตราด อาจจะพิจารณาในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด

 

อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการช่วงอู่ตะเภา-อำเภอแกลง จังหวัดระยอง คาดว่าจะต้องเวนคืนที่ดินประมาณ 2-3 พันหลังคาเรือน งบประมาณจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ราว 4 หมื่นล้านบาท อายุสัมปทานตามกฎหมายพีพีพี ระบุให้ไม่เกิน 50 ปี ส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีนั้น เอกชนจะต้องลงทุนจัดหาพื้นที่เอง เนื่องจาก รฟท.ไม่มีพื้นที่รอบสถานีเพียงพอที่จะให้พัฒนาเชิงพาณิชย์

นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. ระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด มีเป้าหมายรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินทางการขนส่งสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

เวนคืน 3,000หลัง  ลากไฮสปีด  ‘อู่ตะเภา-แกลง’

“เราจะไม่เปลี่ยนแนวเส้นทาง เพราะเป็นแนวเส้นทางที่เหมาะสมทั้งด้านเงินทุนและผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับแนวเส้นทางอื่นๆ ที่เคยศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมีอีก 2 โครงการที่อยู่บริเวณพื้นที่เดียวกันทั้งเส้นทางช่วงมาบตาพุด-บ้านฉาง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีโครงการรถไฟทางคู่ส่วนต่อขยาย ช่วงมาบตาพุด-บ้านฉาง และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

 

หากมีความเป็นไปได้อยากให้อยู่ในบริเวณแนวเส้นทางเดียวกัน จะได้เวนคืนพร้อมกันทีเดียว ทั้งนี้คาดว่าจะทยอยดำเนินการแบ่งออกเป็นแต่ละเฟสตามความเหมาะสม กรณีที่รฟท.ศึกษาแล้วเสร็จ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อให้ทันไฮสปีดอีอีซีเฟสแรก ที่จะเริ่มก่อสร้างอีก 2 ปี ข้างหน้า หากดำเนินการได้สำเร็จจะทำให้ประชาชนที่ต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ-ระยอง ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น”

สำหรับส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง-บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะกลอยประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลงเข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลงประมาณ 2 กิโลเมตร วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบนทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราดประมาณ 2 กิโลเมตร รวมเส้นทางประมาณ 190 กิโลเมตร

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 256