เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หลังวิกฤติโควิด-19 ภาพความหวังใหญ่ของทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องใช้เวลาจัดการกับความเสียหายของระบบห่วงโซ่เศรษฐกิจที่ชะงักหยุดลง ทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการค้า-ขาย ภายในประเทศ โดยล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินรูปแบบการฟื้นตัวดังกล่าว ว่าอาจจะเกิดขึ้นคล้ายสัญลักษณ์ “เครื่องหมายถูกหางยาว” คือ ไถลลงเร็ว แล้วค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สัดส่วนอย่างต่ำ 8% ของจีดีพีประเทศ แบ่งหลายเซกเตอร์ โรงแรม, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และห้างค้าปลีก ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากแรงซื้อ-ดีมานด์ คนไทยและคนต่างชาติหดตัวแรง ก็ยังเป็นคำถามเช่นเดียวกัน ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ถึงฟื้นตัวกลับคืนเทียบเท่าสถานการณ์ปกติ เมื่อปัจจัยเสี่ยงยังมีรอบด้าน
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ครํ่าหวอดในวงการและให้บริการด้านลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ให้มุมมองว่า ขณะนี้ตลาดเข้าสู่ไทม์ไลน์ช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางการจัดการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้ดีเยี่ยม แต่ภาพรวมทั่วโลกกลับสวนทาง ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวของภาค
อสังหาฯไทยทั้งระบบอย่างแน่นอน ซึ่งหากหลายประเทศ ยังปลดล็อกจากเชื้อไวรัสไม่ได้ เท่ากับการเปิดประเทศ เพื่อรับการเดินทางของคนต่างชาตินั้น จะยังไม่เกิดขึ้น กระทบทั้งกลุ่มโรงแรม, ห้างค้าปลีก และโครงการที่อยู่อาศัย ที่พึ่งพากำลังซื้อของกลุ่มคนดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกแง่สะท้อน “โควิด” ยังเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตาย ต่อการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะหากเศรษฐกิจภาพรวมยังมีทิศทางไม่แน่นอนต่อไป ผลของการพัฒนาวัคซีน ซึ่งคาดเดาไม่ได้ถึงความสำเร็จและจำนวน อาจทำให้การตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะการซื้อ หรือ ลงทุนในโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่หยุดลงอีกพักใหญ่
อย่างไรก็ตาม นางสุพินท์ กล่าวต่อว่า แม้โชคร้าย เกิดความผันผวนมากในอุตสาหกรรมอสังหาฯ ภาวะหนักสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในเอเชีย “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 แต่เชื่อในแรงต้านที่แข็งแกร่งของตลาดอสังหาฯไทย ประกอบกับ จุดเด่นด้านการประคับประคองสถานการณ์ที่อยู่ในขั้นดีติดอันดับโลกของไทย จะเรียกความเชื่อมั่นของกำลังซื้อ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนต่างชาติได้กลับมาเร็วกว่าชาติอื่นๆ คาดภายใต้ไม่มีปัจจัยใหม่ๆมากระทบซ้ำ เช่น สถานการณ์ทางการเมือง อุตสาหกรรมอาจใช้เวลาฟื้นตัวแบบเลวร้ายสุดนาน 2 ปี
“ผลกระทบของอสังหาฯ แบ่งได้ตามเซกเตอร์ แต่ที่รอเหมือนกัน คือ ความสำเร็จของวัคซีน, การกระตุ้นลงทุนโดยรัฐ และส่งต่อความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชน หากเทียบวิกฤติต้มยำกุ้ง อสังหาฯใช้เวลาฟื้นตัวได้ไม่นานแม้เจ็บหนัก ส่วนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ใช้ระยะ 1-2 ปี ราคาที่อยู่อาศัยก็ปรับขึ้นได้ ขณะวิกฤติโควิดก็เช่นกัน มีแรงต้านแฝงอยู่ทั้งในหมวดความเชื่อมั่นระดับมหภาค และความต้องการรออยู่”
ขณะนางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบุสอดคล้องว่า การฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม อาจใช้เวลาฟื้นตัวนาน 2ปี เนื่องจากโควิด -19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค และความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ ที่ตกลงไปต่ำสุดอยู่ที่ 47% ในช่วงล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ส่วนซัพพลายคอนโดฯเปิดใหม่ ตลอดช่วงครึ่งปีแรก ลดลงถึง 84% อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ ผู้พัฒนาฯ เน้นขายยูนิตเก่าในมือผ่านการลดราคาลงมาก ทำให้กราฟของความเชื่อมั่นในเดือนกรกฎาคม ขยับขึ้นมาที่ระดับ 51% รวมถึงยอดลูกค้าเข้าเยี่ยมชมโครงการ กลับมาอยู่ในอัตราปกติ บ่งบอกถึงสัญญาณการฟื้นตัวดีอยู่บ้าง โดยเฉพาะในฝั่งดีมานด์เพื่อต้องการซื้ออยู่จริง ขณะกลุ่มผู้ซื้อที่ซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 ในกลุ่มโปรดักต์ที่ค่อนข้างมีราคา (ลักชัวรีคอนโดฯ) ย่านใจกลางเมือง โดดเด่นขึ้น ซึ่งจากจำนวนซัพพลาย (ลักชัวรี) ที่เหลืออยู่ต่ำเพียง 1.2 หมื่นหน่วย และกำลังซื้อของลูกค้าเป้าหมายไม่ได้อ่อนไหวจากเรื่องเศรษฐกิจ จึงคาดว่าจะเป็นกลุ่มอสังหาฯแรกๆ ที่ฟื้นตัวกลับมา
ได้เร็วที่สุด
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
อสังหาไทยสะเทือน 2 ทุนยักษ์ฮ่องกง เปิดอาณาจักรชิงกำลังซื้อจีน
“สำหรับอสังหาฯกลุ่มคอนโดฯ แม้ภาพรวมชะลอตัวจากซัพพลายเหลือค้างในตลาดมาก ดีมานด์ดูดซับต่ำ แต่กลุ่มลักชัวรี ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง จากกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อ ราคาโครงการไม่ได้ลดลงฮวบ โดยเฉพาะทำเลใจกลางเมือง พบระดับ 10-100 ล้านยังขายออกได้แม้ในช่วงวิกฤติ คาดจะฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มไหนๆ”
ทั้งนี้ ความสามารถในการปรับตัว ซึ่งเห็นรวดเร็วในกลุ่มผู้พัฒนาฯ รายใหญ่ในหลายแง่ เปรียบเป็นอีกจุดเด่นของอสังหาฯไทย ที่อาจทำให้การฟื้นตัวเกิดเร็วขึ้น ฉะนั้น โควิดอาจมองได้เป็นทั้งเป็นวิกฤติ และโอกาส ในการหาแนวพัฒนาโครงการ ผ่านแนวคิด-นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งในกลุ่มโรงแรม มิกซ์ยูส อาคารสำนักงาน
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,603 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563