นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงปีพ.ศ. 2441 - 2563 ที่ผ่านมาพบว่า มีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากถึง 678,262 ยูนิต สำหรับในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาพบว่า มีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากถึง 122 โครงการ 57,220 ยูนิต
ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีคอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดมากที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รองมาจากในปี พ.ศ. 2561 ที่มีคอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดอยู่ที่ 55,325 ยูนิต ถือว่าปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 51 จากอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในปีพ.ศ. 2562 ทั้งหมด 37,885 หน่วย
สำหรับในปีพ.ศ. 2564 แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกกว่า 45,000 ยูนิต โดยแผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย มองว่าการเติบโตของอุปทานคอนโดมิเนียมที่สร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดที่สูงเป็นอย่างมากในปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมานั้นเกิดจากอุปทานเปิดขายใหม่ของโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ คึกคักเป็นอย่างมาก คือ ในปีพ.ศ. 2560 มีคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่จำนวน 58,424 ยูนิต และ 66,021 ยูนิตในปีพ.ศ. 2561 ซึ่งแค่เพียงในช่วง 2 ปีดังกล่าวพบว่า มีอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากถึง 124,445 ยูนิต ส่งผลให้ในปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมามีคอนโดมิเนียมจำนวนมากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดจากโครงการคอนโดมิเนียมเหล่านั้นที่เคยเปิดขายในช่วงก่อนหน้า
สำหรับอุปทานคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวนมากเหล่านี้ถือว่าเป็นอีก 1 ปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับผู้พัฒนาว่าหากเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเรียกลูกค้าเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์จะมียูนิตหลุดโอนมากน้อยเพียงใด และหากยูนิตเหล่านั้นมีการทิ้งโอนเป็นจำนวนมากในภาวะที่ตลาดชะลอตัวเช่นนี้ จะเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่ผู้พัฒนาจะต้องนำยูนิตเหล่านี้กลับมาขายใหม่ในตลาดอีกครั้ง
หรืออย่างที่เราเห็นผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะนำยูนิตเหล่านี้กลับมาขายใหม่ด้วยการปรับลดราคาขายลงต่ำกว่าในช่วง Pre-sale ก่อนหน้าด้วยซ้ำ เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มลูกให้เพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นยอดโอนกรรมสิทธิ์เพื่อการรับรู้รายได้และดึงเงินเข้าบริษัทให้มากที่สุด ซึ่งส่งผลให้เราจะยังคงเห็นสงครามราคาในตลาดคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่องในปีพ.ศ. 2564
ทั้งนี้ จากอุปทานสะสมคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่อยู่ที่ 678,262 ยูนิต พบว่า ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกมากที่สุด ประมาณ 391,793 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 58 และในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในประมาณ 286,469 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 42
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในพบว่า อุปทานสะสมคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดตั้งอยู่ในพื้นที่รอบเมืองด้านทิศเหนือ( รัชดาฯ-พหลโยธิน) มากที่สุด 96,105 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 14 รองลงมาคือในพื้นที่เมืองชั้นใน ( สีลม สาทร สุขุมวิทตอนต้น ) ประมาณ 60,368 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 9 และในพื้นที่รอบเมืองด้านทิศตะวันออก (สุขุมวิท) อีกประมาณ 37,476 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 6 สำหรับในปีพ.ศ. 2564
แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่าผู้พัฒนาส่วนใหญ่จะยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกมากขึ้น หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะช่วงรามคำแหง – ลำสาลี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเฉพาะถนนรามอินทรา และแจ้งวัฒนะ จะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมคึกคักขึ้นในปีพ.ศ. 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :