หลังสถานการณ์โควิด-19 บางประเทศเริ่มคลี่คลายประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีน การมีแนวโน้มฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีมากขึ้น นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ ฐานะที่ปรึกษาและแพลตฟอร์มเว็บไซต์ด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว ใกล้เคียงกับสถานการณ์ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อีกครั้ง
จากดีมานด์ในประเทศ และการเริ่มกลับมาของผู้ซื้อชาวต่างชาติ โดยจากรายงานสำรวจ พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น จากช่วงปลายปี 2563 หรือเติบโต 4% ( QoQ) ) นับเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่ดัชนีซัพพลายปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นที่ 3 ติดต่อกันแล้ว โดยไตรมาส 1 ปี 2564 ซัพพลายปรับลดลงถึง 14% โดยเฉพาะในกลุ่มห้องชุดขนาด 3-4 ห้องนอน สะท้อนในเห็นถึงเทรนด์ความต้องการของคนซื้อบ้านชาวสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยมากขึ้น หลังจากมีการแพร่ระบาดของ โควิด-19
ทั้งนี้ ตลาดอสังหาฯ ในสิงคโปร์กำลังจะกลายเป็นตลาดที่เอื้อกับผู้ขายมากขึ้น เพราะในขณะนี้ ผู้ที่มีความพร้อมจะซื้อยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้อสังหาฯ ที่ต้องการ ต่างจากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตลาดมักเอื้อต่อผู้ซื้อบ้านมากกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คาดว่าจะได้เห็นในตลาดอสังหาฯ สิงคโปร์ คือ รัฐบาลอาจจะออกมาตรการเพื่อมาควบคุมความร้อนแรงของราคา ซึ่งอาจทำให้ความคึกคักลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นี้ เนื่องจากที่ผ่านมา (อย่างน้อยในช่วง 4 ไตรมาสหลัง)
ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงภาคอสังหาฯ ของสิงคโปร์ก็คือ เม็ดเงินรวม 1 แสนล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ที่รัฐบาลอัดผ่านมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ในช่วง COVID-19 อย่างไรก็ดี มาตรการส่วนใหญ่ได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เหลือเพียงมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่จะสิ้นสุดในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้
ขณะทิศทางอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามอง จากการขับเคลื่อนด้วยมาตรการรัฐ คือ อินโดนีเซีย พบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงเล็กน้อย (-0.4% QoQ) จากราคาคอนโดฯ ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาบ้านปรับเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีซัพพลายปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 8% จากไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านมากกว่าคอนโด
ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นการซื้ออสังหาฯ ในประเทศ ได้แก่ มาตรการปลอดภาษี (100% VAT free) สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 2 พันล้านรูเปียห์ (ราว 4.4 ล้านบาท), มาตรการซื้อบ้าน-คอนโดโดยไม่ ต้องวางเงินดาวน์ (0% down payment) และธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งตลาดในปัจจุบันจะคล้ายกับเมืองไทย คือ เอื้อต่อผู้ซื้อ มากกว่าผู้ที่คิดจะขายอสังหาฯ ในตอนนี้ ส่วนงบของผู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 พันล้านรูเปียห์ (ราว 2 ล้านบาท) ทำให้ผู้ประกอบการสบโอกาสในการดึงดูดผู้ซื้อกลุ่มนี้ด้วยที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด ในทำเลใกล้เมือง
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง