แม้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญความท้าทายทั้งปัจจัยภายนอกและเศรษฐกิจประเทศขยายตัวตํ่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์หดตัว สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย พลิกเกมมุ่งเจาะกลุ่มบ้านแพงมากขึ้น เพื่อหนี “รีเจ็กต์เรต”
นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาคุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย วิเคราะห์ว่า การเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เปิดโครงการใหม่
การเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ยังสามารถพิจารณาจากประเภทของโครงการได้ด้วยว่า ณ ปีนั้นๆ ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มีความมั่นใจต่อตลาดมากน้อยเพียงใด และมองว่าโครงการที่อยู่อาศัยประเภทใดมีความเสี่ยงหรือมีความเป็นไปได้ที่อาจจะได้รับความสนใจน้อยลง
โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนมาตลอดว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยในระดับราคาตํ่ากว่า 5 ล้านบาทต่อยูนิตมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อซึ่งต้องขอสินเชื่อธนาคาร แต่ปัญหา คือ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาในการขอสินเชื่อธนาคาร อีกทั้งปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อาจจะสูงในกลุ่มของผู้ซื้อที่ต้องการที่อยู่อาศัยในระดับราคานี้
ช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ประกอบการเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านในระดับราคาที่สูงขึ้นไป เช่น ในกลุ่มของบ้านในระดับราคามากกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิต เพราะปัญหาเรื่องของการขอสินเชื่อในกลุ่มซื้อบ้านในระดับราคาตํ่ากว่า 5 ล้านบาท
ที่ติดปัญหาค่อนข้างมากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อมากถึง 50-60% และเริ่มมีการขยายไปถึงกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน แต่กลุ่มของผู้ซื้อบ้านในระดับราคามากกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไปมีจำนวนที่ไม่มาก และพวกเขามีความคิดในการซื้อบ้านที่แตกต่างจากกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาตํ่ากว่าชัดเจน
ดังนั้นมีผู้ประกอบการไม่กี่รายเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการขายบ้านในระดับราคามากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไปและเมื่อมีโครงการที่ประสบความสำเร็จก็จะเป็นการการันตีให้กลุ่มผู้ซื้อให้ความสนใจโครงการของพวกเขาต่อเนื่องจึงมีผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจจะไม่เคยทำโครงการในระดับราคานี้มาก่อนได้รับความสนใจที่น้อยกว่าชัดเจน