คณะวิศวฯ มก. ปรับกระบวนการเรียน ควบคู่ดูแลสังคม

24 เม.ย. 2563 | 07:46 น.

มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การสอบ ตลอดจนการทำงาน สู่ระบบออนไลน์ ผ่านเทคโนโลยี Google Classroom KU Cisco Webex Meetings และ Microsoft Teams และเทคโนโลยีสำหรับการทำงานร่วมกันออนไลน์ อย่าง Google for Education

รศ.ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า “ทีมอาจารย์ นิสิต และบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดทำหน้ากากป้องกันใบหน้า หรือ Face Shield จากเครื่องพิมพ์สามมิติของคณะ ส่งไปยังบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับจากทีมแพทย์ถึงความพึงพอใจในการใช้งานเป็นอย่างดี

คณะวิศวฯ มก. ปรับกระบวนการเรียน ควบคู่ดูแลสังคม

นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์คณะร่วมกับหน่วยงานภายนอก ผลิตกล่องอะครีลิคสำหรับใส่เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัส จัดส่งไปยังโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงการพัฒนาชุดแพทย์เคลือบสารนาโน ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ต้านการซึมผ่านของน้ำ จัดส่งถึงมือหมอและพยาบาลในโครงการ KU สู้โควิดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยังมีอีกหลายโครงการ  เช่น โครงการคลินิกเคลื่อนที่สำหรับตรวจคนไข้ โครงการพัฒนาห้องตรวจ/คัดกรองผู้ป่วย และโครงการตู้ตรวจความดันสูงที่มีความปลอดภัยต่อแพทย์ ซึ่งเมื่อโครงการเหล่านี้สำเร็จ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือบุคลากรทางแพทย์และผู้ป่วยติดเชื้อได้ในอนาคต

คณะวิศวฯ มก. ปรับกระบวนการเรียน ควบคู่ดูแลสังคม
 
ในส่วนของนิสิตที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 คณะได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงในการเข้าตรวจหาเชื้อ และกรณีพบว่าติดเชื้อ คณะจะมอบเงินจากกองทุนสวัสดิภาพนิสิต โดยช่วยเหลือส่วนต่างภายหลังจากเบิกจากมหาวิทยาลัยแล้วอีกไม่เกิน 50,000 บาทต่อคนอีกด้วย

คณะวิศวฯ มก. ปรับกระบวนการเรียน ควบคู่ดูแลสังคม

นอกจากภารกิจหลักด้านการเรียนการสอน คณะวิศวะ ยังได้ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ยับยั้ง การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตลอดจนการรักษาผู้ป่วย และในอนาคตคณะยังคงพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของสังคมต่อไป