งัดไม้ตาย ชิงเจ้าตลาด แอพ‘ฟู้ดดีลิเวอรี’

24 ก.ย. 2563 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2563 | 12:33 น.

ยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มส่งอาหาร “งัดไม้ตาย” สู้ศึกปลายปีหวังชิงผู้นำเจ้าตลาดฟู้ดดีลิเวอรี

        จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ บริการส่งอาหารหรือ “Food Delivery” กลายเป็นบริการที่ร้อนแรงที่สุด เรียกได้ว่าครึ่งปีแรกทุกแพลตฟอร์มเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยแรงหนุนของโควิด ขณะที่ครึ่งหลังของปีต่างก็ต้องเร่งขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อชิงแชร์เบอร์ 1 ของตลาดฟู้ดดีลิเวอรีที่มีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้าน

ไลน์แมนวงในขึ้นเบอร์1

      ไลน์แมนเดินหน้าผนึกพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านร้านอาหารภายใต้ชื่อ “LINE MAN Wongnai” ด้วยจุดแข็งจำนวนผู้ใช้แอคทีฟรวมกันกว่า 13 ล้านคนต่อเดือน ลั่นพร้อมขึ้นเบอร์ 1 ฟู้ดแพลตฟอร์มใน 3 ปีโดยนายยอด ชินสุภัคกุล CEO แห่ง LINE MAN  Wongnai เปิดเผยว่า การควบรวมกันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอีโคซิสเต็ม Online-to-offline สำหรับทั้งผู้ใช้และร้านอาหาร โดยไลน์เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 40% สำหรับไลน์แมนนั้นมียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชันกว่า 9 ล้านครั้ง ผู้ใช้แอคทีฟ (Active User) 3 ล้านคนต่อเดือน พาร์ท เนอร์ร้านอาหารกว่า 2 แสนร้าน และวงในมีผู้ใช้แอคทีฟ 10 ล้านคนต่อเดือน พารทเนอร์ร้านอาหารกว่า 4.3 แสนร้าน มีพนักงานรวมกันขณะนี้กว่า 600 คน ซึ่งแผนธุรกิจของ ไลน์แมนวงใน ในปีแรกจะโฟกัสการทำงานร่วมกันเพื่อขยายพื้นที่ให้บริการไปสู่หัวเมืองใหญ่ และใน 3 ปี ตั้งเป้าสู่อันดับ 1 ฟู้ดแพลตฟอร์มของไทย รวมถึงขยายบริการไปยังเมืองหลักและเมืองรอง 20 จังหวัดทั่วประเทศภายในสิ้นปี

งัดไม้ตาย ชิงเจ้าตลาด แอพ‘ฟู้ดดีลิเวอรี’

ดันแบรนด์ Gojek ชน

    ขณะที่ เก็ท ก็ได้รีแบรนด์ไปใช้ชื่อผู้ถือหุ้นหลักอย่าง โกเจ็ก เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยไปเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมชู 4 บริการหลัก 

งัดไม้ตาย ชิงเจ้าตลาด แอพ‘ฟู้ดดีลิเวอรี’      นายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Gojek ประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ GET ต้องรีแบรนด์เป็น Gojek เนื่องจากตลาดในประเทศไทยนั้นมีการแข่งขันสูง ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการ นำจุดแข็งและศักยภาพของ Gojek มาขับเคลื่อนให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ และปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งจะช่วยให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ในระยะยาว ขณะนี้โกเจ็กให้บริการอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและไทย ทั้งนี้เป้าหมายของโกเจ็กในประเทศไทย นั้นคือ การรวมแอพพลิเคชันเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้พัฒนาธุรกิจได้ทั้งด้านเทคโนโลยีและการตลาด โดยกลยุทธ์ในการทำตลาดประเทศไทย จะเป็นกลยุทธ์แบบ Hyper Local ขณะนี้ เก็ท หรือ โกเจ็ก ให้บริการอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยครอบคลุมพื้นที่ 18 เขต และมองหาโอกาสขยายไปยังเมือง อื่นๆ ต่อไป

หลบสมรภูมิ เปิด "แพนด้ามาร์ท"

     จากการแข่งขันอย่างดุเดือดส่งผลให้แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรีรายแรกๆ ในไทยอย่าง “Foodpanda” ต้องเบนเข็มหลบสมรภูมิ ไปเพิ่มรายได้ในธุรกิจค้าปลีกแบบส่งด่วนแทน โดยอาศัยจังหวะที่ผู้บริโภคกำลังคุ้นเคยกับบริการดีลิเวอรีในยุค Quick Commerce ที่ลูกค้าไม่ชอบรอ

งัดไม้ตาย ชิงเจ้าตลาด แอพ‘ฟู้ดดีลิเวอรี’     นายโทมัส บูชัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าฟู้ดแพนด้าเป็นผู้ให้บริการส่งอาหารแบบออนดีมานด์รายแรกในไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยมีร้านอาหารในแพลตฟอร์มกว่า 9 หมื่นร้าน ให้บริการแล้วกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ผ่านมาจุดแข็งคือบริการส่งอาหาร แต่เนื่องจากลูกค้าเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมต้องการความรวดเร็วมากขึ้น จึงต้องมีการเปิดตัว “แพนด้ามาร์ท” ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ฟู้ดแพนด้ามองเห็นโอกาสจากจำนวนผู้ใช้บริการธุรกิจ Quick Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ “แพนด้ามาร์ท” ใช้โมเดลเดียวกับธุรกิจค้าปลีก (Retail Business) ที่มีรายได้หลักมาจากยอดจำหน่ายสินค้า กว่า 2,700 SKU และเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงในช่วงแรกจะรุกตลาดด้วยโปรโมชันส่งฟรีเมื่อสั่งซื้อเกิน 50 บาท การันตี จัดส่งภายใน 20 นาที ขณะนี้เปิดบริการครอบคลุม 7 เขตพื้นที่โดยตั้งเป้าที่จะขยายให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดต่างๆ ภายในสิ้นปีนี้