iMAP บูรณาการข้อมูล ส่งต่อ ศบค. ควบคุมพื้นที่ระบาดไวรัส

20 มิ.ย. 2564 | 03:53 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2564 | 04:35 น.

GISTDA เดินหน้าขยายผล COVID-19 iMAP Platform บูรณาการข้อมูลและระบบนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ช่วยกำหนดพื้นที่เสี่ยง ควบคุมพื้นที่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายผลเพื่อสนับสนุนทุกภารกิจของประเทศ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ภูมิสารสนเทศไม่ได้มีแค่ข้อมูลแผนที่ แต่สามารถนำข้อมูลเชิงพื้นที่ประเภทต่างๆ มาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อบอกผลลัพธ์ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน เวลาใด อย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ตัดสินใจ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ แม้กระทั่ง สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ขณะนี้ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ก็สามารถนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ช่วยสนับสนุนการบริหารสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้

iMAP บูรณาการข้อมูล ส่งต่อ ศบค. ควบคุมพื้นที่ระบาดไวรัส

ที่ผ่านมา GISTDA มีบทบาทในการสนับสนุนการบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยพัฒนาระบบ iMAP ที่เน้นการบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสาธารณสุข ข้อมูลประชากร หรือข้อมูลที่ตั้งโรงงาน ตลาด ชุมชนแออัด ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน จนนำไปสู่คำตอบที่บอกได้ว่า ควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร 

ปัจจุบันระบบบูรณาการข้อมูล หรือ iMAP สามารถสนับสนุนการทำงานให้กับ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยใช้ภูมิสารสนเทศและข้อมูลภาพจากดาวเทียมมาช่วยกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด จนนำไปสู่การควบคุมพื้นที่ระบาดได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 

ระบบ iMAP ถือเป็นต้นแบบระบบบูรณาการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงพื้นที่ ทั้งในส่วนของผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารระดับหน่วยงานหรือพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติกงานส่วนหน้า เป็นระบบมีจุดเด่นที่สำคัญของการทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของการเชื่อมโยงและการจัดการข้อมูล เราต้องยอมรับว่า การมีข้อมูลเป็นจำนวนมากนับว่าเป็นเรื่องดี สามารถตอบคำถามได้มากยิ่งขึ้น แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ขาดการจัดการข้อมูลที่ดี ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาสร้างความสับสนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ 

การจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก รวมทั้งเป็นงานที่มีความซับซ้อน เราจึงต้องอาศัยการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานร่วมกับปัญญาของมนุษย์  ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้เราสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจ “ครอบคลุม” ในประเด็นต่างๆ ได้ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดการกับปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากจะต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลจากหลากหลายแหล่ง หลายระบบและมาตรฐาน แล้ว เรายังต้องมีระบบการจัดการข้อมูลที่ดี และต้องคำนึงสิทธิส่วนบุคคลไปพร้อมๆกัน อีกด้วย

“GISTDA มีความพร้อมอย่างเต็มที่ ในการสนับสนุนทุกภารกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงสถานการณ์วิกฤตและเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และพร้อมอย่างยิ่งที่จะการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ไม่ว่าเป็นหน่วยงานจากภาครัฐหรือเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งาน สามารถนำมาใช้ช่วยพัฒนาพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนสามารถแก้ไขและบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ”

ไม่เกินกลางปี 2565 ดาวเทียม 1 ใน 2 ดวงของระบบ THEOS-2 จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลภูมิสารสนเทศที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จนกลายเป็น “Big Data” เชิงพื้นที่ หรือที่เรียกว่า “Spatial Big Data” ที่มีความทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ประโยชน์และมีความสำคัญ ที่จะทำให้การวางแผนและการตัดสินใจแก้ปัญหาด้านต่างๆ มีความถูกต้อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง