โดยอิสราเอลเป็นประเทศแรกที่ได้มีการออก digital vaccine passport พร้อมกับเปิดตัว Green Pass เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยจีน บาห์เรน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศใน EU ฯลฯ
หลักการของ vaccine passport คล้ายกับบัตรเหลือง (Carte Jaune) ที่นักเดินทางจำนวนมากอาจคุ้นเคย คือเป็นบันทึกการฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก และเริ่มถูกนำมาใช้ในการเดินทางระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2473 เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าผู้ที่เดินทางได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนั้นๆ แล้ว เช่น ไข้เหลือง ไทฟอยด์ หรืออหิวาตกโรค เป็นต้น
แม้วันนี้จะยังมีการใช้บัตรเหลืองอย่างแพร่หลาย รัฐบาลหลายประเทศก็ได้เริ่มมองถึงการพัฒนา digital vaccine passport ที่ปลอมแปลงได้ยากกว่า เพราะใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนดิจิทัลที่มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและติดตามได้ โดยนอกจากการนำมาใช้ในการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว ยังมีการมองถึงการนำ digital vaccine passport มาใช้กับองค์กรหรือในกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน และต้องการการยืนยันการฉีดวัคซีนหรือผลการตรวจเชื้อโควิด
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "การใช้ digital vaccine passport อาจไม่เพียงพอหากมองถึงผลในแง่การควบคุมการแพร่ระบาด หรือการกลับมาเดินทางและใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง หากระบบไม่เชื่อมโยงกับองค์กรหรือหน่วยงานที่ประชาชนต้องติดต่อในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านค้า งานอีเวนท์ หรือแม้แต่หน่วยงานราชการ เพราะต่อจากนี้ไป องค์กรอาจจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของพนักงาน ลูกค้า ผู้ที่มาติดต่อ หรือตรวจสอบว่าพนักงานมีเงื่อนไขทางสุขภาพและวัคซีนที่จำเป็นสำหรับงานนั้นๆ หรือไม่ แม้แต่คอนเสิร์ตหรืองานแต่งงานก็อาจจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ที่มาร่วมงาน”
“นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลที่ปรากฏบน digital vaccine passport ก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล”
วันนี้หลายประเทศจึงได้มีการมองถึงการนำ digital health pass มาใช้ ซึ่งแตกต่างจาก digital vaccine passport เพราะเป็น digital wallet บนสมาร์ทโฟน ที่บุคคลสามารถเก็บข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลการฉีดวัคซีน หรือผลการตรวจโควิด (ที่เป็นลบ) โดยเจ้าของข้อมูลสามารถเลือกที่จะแชร์หรือไม่แชร์ข้อมูล เลือกได้ว่าจะแชร์ข้อมูลใดบ้าง และแชร์ให้แก่หน่วยงานใด
นางสาวปฐมา เล่าว่า “ตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลตรวจการติดเชื้อโควิดหรือฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยงานนั้นๆ จะออกเอกสารยืนยันให้ในรูปแบบ QR code โดยบุคคลสามารถจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลนี้ภายใต้การเข้ารหัสอย่างปลอดภัยใน digital wallet เมื่อถึงเวลาขึ้นเครื่องบินหรือเข้างานอีเวนท์อย่างการแข่งกีฬา ก็เพียงแค่แชร์ QR code จากสมาร์ทโฟนที่เครื่องอ่านตรงจุดตรวจ การใช้ QR code ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลแก่ผู้อื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการ หรือโดยไม่ตั้งใจระหว่างขั้นตอนการตรวจเอกสารต่างๆ”
มองว่า “Digital health pass จึงไม่ใช่แค่หลักฐานยืนยันข้อมูลการฉีดวัคซีนหรือผลเทสต์เพื่อใช้ในการเดินทาง การต่อเครื่องบิน หรือการเข้าพักในโรงแรม แต่จะเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐ องค์กรเอกชน ห้างร้าน เอ็นจีโอ หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ พิจารณาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด”
ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคือองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ digital health pass เพราะบุคคลนั้นๆ ต้องสามารถควบคุมการแชร์ข้อมูลหรือการอนุญาตให้แชร์ข้อมูล โดยที่ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ถูกเผยแพร่ไปด้วย โดยใช้เทคโนโลยี blockchain เป็นตัวควบคุมความโปร่งใส การให้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูล ตลอดจนความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ของข้อมูล
นางสาวปฐมา ย้ำว่า “Digital health pass ต้องสามารถนำไปใช้ร่วมกับระบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะผ่าน QR code บนสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ ใช้กับระบบจองตั๋วของสายการบิน หรือแม้แต่การใช้ร่วมกับบัตรประจำตัวพนักงานของบริษัท นั่นหมายถึงความสามารถในการปฏิบัติงานข้ามระบบ มีความยึดหยุ่น และมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลขั้นสูง โดยมีเทคโนโลยีอย่าง cloud satellite, AI และ blockchain เป็นเบื้องหลังสำคัญ”
ผู้ที่มี digital health pass ยังต้องสามารถเลือกแชร์ข้อมูลผ่าน QR code บนสมาร์ทโฟนของตน หรือพิมพ์เอกสารยืนยันตัวตนที่แสดงข้อมูลนั้นๆ แทนได้
“ข้อสำคัญคือ digital health pass จะต้องเป็นระบบที่ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความสมัครใจ และเลิกใช้ได้หากต้องการกลับไปใช้เอกสารที่เป็นกระดาษแทน โดยที่ข้อมูลส่วนบุคคลต้องไม่ถูกเปิดเผยเช่นกัน”
นางสาวปฐมา ยกตัวอย่างของรัฐนิวยอร์ค ที่ได้เริ่มมีการนำ digital health pass มาใช้แล้วภายใต้ชื่อ Excelsior Pass โดยประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลยืนยันเพื่อเข้าสนามกีฬา งานแต่งงาน งานอีเวนท์ รวมถึงสถานที่ต่างๆ ในนิวยอร์ค Excelsior Pass จะมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูลการไปสถานที่ต่างๆ อย่างเชื่อมโยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและรองรับการกลับมาเปิดบริการอย่างเต็มตัวของธุรกิจในนิวยอร์คอีกครั้ง
ที่สิงคโปร์เองก็ได้มีการนำ digital health pass ของไอบีเอ็มมาใช้กับระบบ Digital Health Passport ของ Accredify โดยระบบจะเชื่อมข้อมูลเวชระเบียนจากคลินิกที่เป็นพันธมิตรกับ Accredify เข้ากับ Digital Health Passport พร้อมเชื่อมโยงกับประเทศที่มีข้อตกลงการเดินทางร่วมกัน ช่วยให้นักเรียน-นักศึกษาสามารถกลับไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ประชาชนเดินทางกลับประเทศได้ หรือเดินทางไปทำธุรกิจได้อย่างสะดวกและปลอดภัยขึ้น
ปัจจุบันมีการมองถึงการเพิ่มตัวเลือกในการพิมพ์ใบรับรองจากเครื่องหรือโทรศัพท์เครื่องอื่นได้ เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ มีโทรศัพท์มือถือที่ไม่รองรับระบบ หรืออาจลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน สามารถเข้าถึงข้อมูลของตนได้อย่างปลอดภัย
นางสาวปฐมา ย้ำว่า “วันนี้หลายองค์กรคงไม่ได้มองเพียงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ หรือการติดตามและตรวจสอบข้อมูลของผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องวางระบบให้เชื่อมโยงแบบ end-to-end ตั้งแต่ข้อมูลวัคซีน ผลการเทสต์ ไปจนถึงระบบที่รองรับการท่องเที่ยว และการซื้อขายแบบไร้เงินสดเพื่อลดการสัมผัส”
“เพราะทั้งประชาชนและธุรกิจล้วนอยู่กับความไม่แน่นอนมาแรมปี และเมื่อใดก็ตามที่ฟ้าเปิดอีกครั้ง ทางเลือกเดียวที่จะช่วยให้ประเทศกลับมาแข่งขันได้ คือการเร่งเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพที่สุด”