สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รายงานว่า Esquel Group ผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสัญชาติฮ่องกงที่เปิดกิจการในมาเลเซียมานานกว่า 50 ปี ได้ประกาศยุติการดำเนินกิจการ โดยจะปิดโรงงาน 2 แห่งในมาเลเซียในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 และต้องเลิกจ้างแรงงานกว่า 2,000 คน ในรัฐปีนังและรัฐกลัน
Esquel เป็นผู้ผลิตเสื้อเชิ้ตผ้าทอรายใหญ่ที่สุดในโลก มีการจ้างงานแรงงานรวมกว่า 50,000 คน กระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ อาทิ เวียดนาม และศรีลังกา แม้ว่าบริษัทฯ จะมีผลประกอบการขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ด้วยการทำงานอย่างหนักของพนักงานทุกคน ทำให้บริษัทฯ กลายเป็นบริษัทท้องถิ่นเต็มตัว โดยโรงงานในรัฐกลันตันมีการผลิตที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องและมีการจ้างงานแรงงานหญิงมากที่สุดในรัฐ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจทั่วโลกหยุดชะงัก สินค้าของบริษัทฯ ที่ส่งไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาประสบปัญหา เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกในสหรัฐฯ ได้ปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทฯ ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการผลิตได้จากมาตรการควบคุมการสัญจร (MCO) ทั่วประเทศมาเลเซีย ในขณะที่ลูกค้าก็ระงับคำสั่งซื้อทั้งปัจจุบันและในอนาคต ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ บริษัทฯ จึงไม่สามารถจะดำเนินการต่อไปได้
ในช่วงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด บริษัท Esquel Malaysia (Kelantan) Sdn. Bhd. มีลูกค้าระดับโลก อาทิ Ralph Lauren, Brooks Brothers, Land’s End, Tommy Hilfiger, Hugo Boss, Fred Perry, Marks and Spencer, Banana Republic และ J. Crew. รวมทั้งผลิตเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายให้กับแบรนด์ดังอย่าง Burberry, Nike, Lacoste และ Nautica โดยในปี 2550 บริษัทฯ ได้ลงทุนเป็นมูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการพัฒนา โรงงานในรัฐปีนังหลังจากห่างหายไปนาน 8 ปี นอกจากนั้นยังได้ประกาศพัฒนาโรงงานใน Bayan Lepas เพื่อรองรับการผลิตในปริมาณมากที่ถูกถ่ายโอนมาจากจีน
โรงงานในรัฐปีนังและกลันตันอาจจะกลับมาดำเนินการได้อีกระยะหลังจากสิ้นสุดมาตรการ MCO ในวันที่ 28 เมษายนจนถึงวันที่ 12 มิถุนายน แต่ต้องรอดูสถานการณ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะมีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงาน ประกอบด้วยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งจ่ายเงินเดือนจนถึงวันสุดท้ายของการทำงานตามที่ได้ระบุไว้
สคต. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เผยว่า ในปี 2562 ไทยมีการส่งออกผ้าผืนและด้ายไปยังมาเลเซียเป็นมูลค่า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 25 จากปีก่อนหน้า ส่วนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกผ้าผืน และด้ายมายังมาเลเซียอยู่ที่ 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันก่อนปีก่อน สัดส่วนการส่งออกสินค้าผ้าผืนและด้ายมายังมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
ทั้งนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ ระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐที่ทำให้โรงงานผลิต ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกที่เป็นช่องทางจำหน่ายสำคัญ ประกอบกับเครื่องนุ่งห่มถือเป็น สินค้าที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันในช่วงนี้ ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีความกังวลเกี่ยวกับการจ้างงงานและรายได้ ก็จะตัดค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยก่อนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการไทยต้องพิจารณาปรับตัว หรือปรับสายการผลิตมาผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ในทางการแพทย์อาทิ ชุด PPE เพื่อพยุงการดำเนินธุรกิจให้สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง