สำนักข่าวVietnam News รายงาน ว่า ผู้ประกอบการในเวียดนามที่กลับมาดำเนินกิจการหลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ต้องลดขนาดกิจการ ปิดกิจการชั่วคราว หรือจ้างโรงงานอื่นให้ผลิตแทน เนื่องจากลูกจ้างที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในห้วงการแพร่ระบาด ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเดินทางกลับไปทำงานในเมืองใหญ่ เนื่องจากยังกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามถือเป็นคู่แข่งไทยที่สำคัญด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(FDI) เมื่อปี 2562 ทุน FDI ไหลเข้าเวียดนามมากกว่าไทยมากกว่า 2 เท่า ด้วยเหตุที่ไทยและเวียดนามส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันไปสหรัฐฯ จึงมองได้ว่าเวียดนามแย่งตลาดสหรัฐฯไปจากไทย นอกจากนี้การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้าไปเวียดนามช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็น่าจะได้เข้ามาไทยหากไทยได้เข้าร่วม TPP ตั้งแต่แรก เพราะไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุนมากกว่าเวียดนาม ระบบสาธารณูปโภคดีกว่าเวียดนามมาก แต่นักลงทุนต่างประเทศก็หันไปลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่ โดยเมื่อปี2562 มากถึง 20,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากปี 2561 มากกว่า 31% เปรียบเทียบกับไทยที่ได้รับ FDI จากนักลงทุนต่างประเทศไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเวียดนามและได้รับน้อยกว่าปี 2561 ที่เคยได้มากถึง 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปี 2562 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ประเทศไทยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 756,100 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) 991 โครงการ เงินลงทุน 506,230 ล้านบาท โดยเป็นคำขอรับการส่งเสริมจากจีนมากที่สุด 203 โครงการ เงินลงทุน 261,706 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ขณะที่สถานการณ์การลงทุนของโลกเวลานี้อยู่ในช่วงชะงักงันจากผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19)ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก
ล่าสุดปี2563 การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยโดยยื่นขอรับการส่งเสริมในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม 2563) มีจำนวน 249 โครงการ เงินลงทุน 27,425 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 7,402 ล้านบาท คิดเป็น 27% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาคือ จีน เงินลงทุน 6,510 ล้านบาท ตามด้วย ฮ่องกง 3,458 ล้านบาท สิงคโปร์ 3,136 ล้านบาท และอินโดนีเซีย 2,542 ล้านบาท ตามลำดับ