“TikTok” แอปฯ โซเชียลมีเดียยอดฮิตของจีนได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จากการที่ รัฐบาลสหรัฐเตรียมประกาศแบน ห้ามดาวน์โหลดมาใช้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ตามหลังอินเดียที่ประกาศ แบน TikTok พร้อมแอปฯ อื่น ๆของจีนอีก 58 รายล่วงหน้าไปก่อนแล้วเมื่อสิ้นเดือนมิ.ย. หลังเหตุปะทะดุเดือดที่แนวชายแดนแคว้นแคชเมียร์ที่ส่งให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดียดิ่งหนัก ทำให้มีคำถามขึ้นมาว่า เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร้าวฉาน ทำไมต้องเป็น TikTok ที่รับเคราะห์เป็นด่านแรก
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา มาถึงจุดตึงเครียดและสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากที่จีนประกาศใช้ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงฉบับใหม่ เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐต้องประกาศทบทวนการให้สิทธิพิเศษที่เคยให้ฮ่องกงในฐานะเขตปกครองพิเศษที่มีความแตกต่างจากจีนภายใต้แนวคิด “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จากนี้ไปเมื่อจีนครอบงำฮ่องกงมากขึ้น สหรัฐจึงต้องทบทวนสิทธิพิเศษนั้น
ขณะที่ความสัมพันธ์ด้านการค้า แม้ทั้งสองฝ่ายพยายามประคับประคองให้ข้อตกลงการค้าเฟสแรกเดินหน้าต่อไปตามที่ตกลงกันไว้ และจีนเองก็ให้คำมั่นว่าจะสั่งซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐให้มากขึ้นตามที่รับปาก แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี ที่ทำให้จีนประกาศมาตรการปิดเมือง-ปิดประเทศมานานนับเดือน ก็ส่งผลกระทบด้านการขนส่ง การกระจายสินค้า มีการปิดชั่วคราวสายการผลิตของบรรดาโรงงาน และอุปสงค์ภายในประเทศก็ลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังความต้องการนำเข้าและปริมาณการค้าที่ลดฮวบ ซ้ำร้ายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ยังออกมากล่าวหาว่าจีนเป็นต้นตอกระจายเชื้อไวรัสทำให้เกิดหายนะไปทั่วโลกในเวลานี้ สหรัฐไม่เพียงแค่ทวงถามความรับผิดชอบจากจีน แต่ยังเพิ่มแรงกดดันในทุก ๆ ด้าน เช่น การคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในมณฑลเจ้อเจียง รวมทั้งเจ้าหน้าที่และธนาคารจีนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
TikTok โดนอีกแล้ว สหรัฐจ่อแบน อ้างความมั่นคง
อินเดียสั่งแบน TikTok พร้อมอีก 58 แอปฯจีน อ้างภัยคุกคามความมั่นคง
ส่วน แนวรบในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สหรัฐเพ่งเล็งและพุ่งเป้าสกัดกั้นบริษัทจีนที่อยู่ในแถวหน้าระดับโลก เช่น หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมอันดับหนึ่งของโลก (และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก) รวมทั้งบริษัทอื่น ๆที่มีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชน เช่น แซดทีอี (ZTE)
ขณะที่ TikTok คือแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียยอดนิยมสำหรับการแชร์คลิปสั้น ๆ ซึ่งเป็น แอปพลิเคชันแรกของจีนที่ทำสถิติมีผู้ดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาในปี 2561 จากนั้นถัดมาต้นปี 2562 TikTok ทำสถิติยอดดาวน์โหลดทะลุ 1,000 ล้านไม่นับรวมตลาดจีน และทะยานขึ้นเป็นแอปฯยอดนิยมในมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ในปีเดียวกันนั้น สื่อต่างประเทศจัดอันดับให้ TikTok เป็นแอปฯหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่มีผู้ดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ในรอบทศวรรษ (ระหว่างปี 2553-2562) นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นแอปฯ ที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในแอปสโตร์ (AppStore) ทั้งในปี 2561 และ 2562
ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่และเป็นผู้พัฒนาแอปฯ TikTok สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เปิดตัวแอปฯ นี้ในประเทศจีนเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ข่าวระบุว่า บริษัทใช้เวลาพัฒนาแอปฯ TikTok ภายในเวลา 200 วัน แต่เมื่อเปิดตัวสู่ตลาดภายในเวลาเพียง 1 ปี(เมื่อเดือนก.ย.2560) มีผู้ใช้งานแอปฯนี้ถึง 100 ล้านคน!
สถิติเมื่อเดือนเม.ย. 2563 จากบริษัทวิจัย เซ็นเซอร์ ทาวเวอร์ (Sensor Tower) ซึ่งเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ชี้ว่า ยอดการดาวน์โหลดแอปฯ TikTok แบบยอดสะสมทะลุ 2,000 ล้านครั้งแล้ว และในไตรมาสแรกของปีนี้ TikTok ยังทุบสถิติเป็นแอปฯมือถือที่ทำยอดการดาวน์โหลดสูงสุดเหนือแอปฯใด ๆ ที่ยอด 315 ล้านครั้ง อานิสงส์จากเรื่องนี้ส่งผลให้นายจาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบท์แดนซ์ กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ติดอันดับเศรษฐีพันล้าน(ดอลลาร์)โดยการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) ในปีนี้ ด้วยรายได้สุทธิ 13,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 40,300 ล้านบาท) และเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 22 ของประเทศจีน
แต่ทุกขลาภมาพร้อมความโด่งดังของแอปฯ ยิ่งมีการดาวน์โหลดใช้มากและเป็นที่นิยมมากในระดับโลก ก็ถูกเพ่งเล็งโดยรัฐบาลสหรัฐมากขึ้นด้วย โดยล่าสุดนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยผ่านสื่อใหญ่ “ฟ็อกซ์นิวส์” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ก.ค.) ว่า สหรัฐกำลังพิจารณา ห้ามการใช้งานแอปฯ สื่อสังคมออนไลน์ของจีน ซึ่งรวมถึง TikTok เพราะเกรงว่า แอปฯ เหล่านี้ จะสามารถล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ส่งให้กับรัฐบาลจีน
“ชาวอเมริกันควรระมัดระวังการใช้ TikTok แอปฯนี้ควรดาวน์โหลดมาใช้ก็ต่อเมื่อคุณอยากให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณตกอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น” นายปอมเปโอระบุในช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์
ส่วนหนึ่งที่สหรัฐอ้างว่าเป็นความกังวลใจก็คือ วิธีการเก็บ ใช้ และแป่งปันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานแอปฯ TikTok ที่อาจทำให้ข้อมูลเหล่านี้ตกสู่มือรัฐบาลจีน เนื่องจากจีนมี กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ หรือ 2017 National Intelligence Law ที่ระบุเนื้อหาในมาตรา 7 ไว้ว่า องค์กรหรือพลเมืองจีนควรจะให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมมือ ในงานด้านข่าวกรองของภาครัฐ ซึ่งหมายความว่าบริษัทเอกชนของจีนจะต้องแบ่งปันข้อมูลที่มีอยู่ให้แก่รัฐบาลจีน หากได้รับการร้องขอและยังจะต้องช่วยรักษาความลับของทางการด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของไบท์แดนซ์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยตลอด โดยบริษัทย้ำว่า ความลับและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แอปฯ TikTok คือสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด และจะไม่มีวันแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้กับรัฐบาลจีน แม้จะถูกขอมาก็ตาม
“แต่ข้อเท็จจริงก็คือ รัฐบาลจีนไม่เคยขอให้บริษัทเปิดช่องสู่ฐานข้อมูลผู้ใช้งานแอปฯของเราในสหรัฐเลย” โฆษกของไบท์แดนซ์ให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่ “เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล” เมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็มีรายงานข่าวจาก “เดอะ การ์เดี้ยน” สื่อของอังกฤษ ที่อ้างอิงข้อมูลข่าวที่รั่วไหลมาจากบริษัทไบท์แดนซ์เองว่า เอกชนจีนรายนี้พยายามเอาใจรัฐบาลจีนด้วยการพยายามเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ผู้ใช้แอปฯ TikTok แชร์กันในโลกโซเชียลมีเดียหากมันเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมิน การเรียกร้องเอกราชของทิเบต และลัทธิฟาหลุนกงที่เป็นองค์กรด้านศาสนาที่ถูกแบนในจีน
วิบากกรรมของ TikTok กับสหรัฐยังไม่จบลงแค่นั้น ล่าสุด (7 ก.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามว่า TikTok กำลังถูกเล่นงานอีกกระทง โดยแหล่งข่าวซึ่งถูกเรียกเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการการค้าแห่งรัฐ (FTC) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ระบุว่า ทั้งสองหน่วยงานกำลังพิจารณาเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่า แอปฯ TikTok ละเมิดข้อตกลงปี 2562 ว่าด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็ก
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ประชาธิปไตยดิจิทัลรณรงค์เพื่อเด็กปลอดจากการโฆษณา และอีกหลายกลุ่มองค์กรในสหรัฐ ได้ออกมาเรียกร้องให้ FCT ตรวจสอบข้อกล่าวหาหลายๆ ข้อกล่าวหา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การที่ TikTok ล้มเหลวในการลบวิดีโอและข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีตามที่ระบุไว้ในข้อตกลง แต่โฆษกของ TikTok ก็ได้ออกมาชี้แจงแก้ต่างในเรื่องนี้แล้วว่า ในสหรัฐอเมริกา แอปฯจัดผู้ใช้งานที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปีให้ใช้งานได้อย่างจำกัด ภายใต้การคุ้มครองด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ออกแบบมาเพื่อผู้ชมอายุน้อยโดยเฉพาะ
ข้อมูลสำคัญที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ แอปฯ TikTok ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน โดยผู้ใช้งานจริงในสหรัฐราว 60% จากทั้งหมด 26.5 ล้านคนต่อเดือน เป็นผู้อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 16-24 ปีเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง
Who owns TikTok and why is the app considered a national security threat?
Exclusive: U.S. probing allegations TikTok violated children's privacy - sources