ดูเหมือนประเด็นขัดแย้งกรณีการใช้ แอปพลิเคชันยอดฮิต “TikTok” ซึ่งเป็นของบริษัทสัญชาติจีน ในตลาดสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ว่า เขาจะใช้อำนาจของกฎหมายฉุกเฉินหรือคำสั่งฝ่ายบริหาร ห้ามการใช้งานแอปฯ TikTok (ติ๊กต็อก) ในสหรัฐด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เนื่องจากเชื่อว่าแอปดังกล่าว สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้วงความลับและข้อมูลของชาวอเมริกันให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น กำลังจะพบกับทางออกสวย ๆ ที่ไม่มีใครคัดค้านแล้วในต้นสัปดาห์นี้ เมื่อ บริษัท ไมโครซอฟต์ ยักษ์ใหญ่ไฮเทคและซอฟต์แวร์ของสหรัฐ ออกมายืนยันว่า กำลังเจรจาซื้อกิจการของ TikTok ในตลาดสหรัฐ และการเจรจาก็มีความคืบหน้าด้วยดี คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงซื้อขายกันได้เรียบร้อยภายในวันที่ 15 ก.ย. ที่จะถึงนี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ช่วงแรกๆ ข่าวการเจรจาซื้อกิจการ TikTok ในตลาดสหรัฐระหว่างไมโครซอฟต์กับบริษัท ไบท์แดนซ์ (ByteDance) ของจีนซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดแอปพลิเคชัน TikTok ก็ส่ออาการว่าจะชะงักงันเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาประกาศเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) ว่าเขาจะแบนการใช้งานแอปฯ ดังกล่าว แต่แล้วสถานการณ์ก็คลี่คลาย กลายเป็นฟ้าสว่างหลังเมฆฝนอึมครึม เมื่อทรัมป์ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันจันทร์ (3 ส.ค.) ว่า เขาไม่ขัดขวาง ในทางกลับกันเขาสนับสนุนให้บริษัทอเมริกันซื้อกิจการของ TikTok ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง
“เราจะปิด TikTok แน่ ๆ ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เว้นแต่ว่าไมโครซอฟต์หรือบริษัทอื่น ๆ มาซื้อกิจการแอปฯนี้” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าว และว่า หากการซื้อขายกิจการครั้งนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ก็ขอให้มีการ “จ่ายเงินก้อนใหญ่ ๆ”ให้รัฐบาลสหรัฐด้วย ในฐานะที่ดีลนี้ต้องได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สหรัฐเชือดจีน ทำไมต้องโดน TikTok
TikTok โดนอีกแล้ว สหรัฐจ่อแบน อ้างความมั่นคง
อินเดียสั่งแบน TikTok พร้อมอีก 58 แอปฯจีน อ้างภัยคุกคามความมั่นคง
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ไมโครซอฟต์สามารถเจรจากับไบท์แดนซ์จนมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ การซื้อกิจการครั้งนี้จะถือเป็นชัยชนะของทั้งสองบริษัท เพราะจะทำให้ไมโครซอฟต์ยืนหยัดการเป็นผู้นำในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่ไบท์แดนซ์และ TikTok จะไม่ต้องห่วงเรื่องการตกเป็นเป้าโจมตีของประธานาธิบดีทรัมป์อีกต่อไป
ข่าวระบุว่า นอกจากไมโครซอฟต์แล้ว ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจซื้อกิจการของ TikTok อยู่เช่นกัน ซึ่งรวมถึงกูเกิลและเฟซบุ๊ก แต่ต่อมาก็มีข่าวว่า เฟซบุ๊กเองก็ได้พัฒนาแอปของตัวเองให้ผู้ใช้งานอินสตาแกรมสามารถสร้างและแชร์คลิปวิดีโอสั้น ๆ แบบ TikTok ได้
ทั้งนี้ ไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นเจ้าของเว็บ LinkedIn ยักษ์ใหญ่สื่อสังคมออนไลน์ด้านอาชีพและตำแหน่งงาน เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจโฆษณาแบบดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ในสหรัฐฯ โดย 3 ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนี้คือ กูเกิล เฟซบุ๊ก และแอมะซอน เป็นคู่แข่ง
ด้านผู้บริหารของ TikTok ได้ออกมาแถลงว่า ไม่ขอให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับข่าวลือและการคาดเดาต่าง ๆ แต่ขอแสดงความมั่นใจในโอกาสแห่งความสำเร็จในระยะยาวของ TikTok นอกจากนี้ วาเนสซา พัพพัส ผู้จัดการใหญ่ของ TikTok ในสหรัฐ ยังได้อัพโหลดวิดีโอคลิปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ยืนยันว่า TikTok จะไม่หายไปจากตลาดสหรัฐฯ แต่อย่างใด
แอป TikTok เป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ เมื่อไบท์แดนซ์นำมาเปิดตัวในปี 2560 หลังจากนั้นบริษัทได้ซื้อกิจการ Musical.ly ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับคลิปวิดีโอที่ได้รับความนิยมในสหรัฐและยุโรป เมื่อรวมจุดเด่นของทั้งสองกิจการเข้าด้วยกันก็กลายเป็นพื้นที่แบ่งปันวิดีโอสนุกๆ ที่ทำไม่ยาก และติดกระแสอย่างมาก จนมีผู้ใช้งานหลายสิบล้านคนในสหรัฐฯ และหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ทำให้ทั้งเฟซบุ๊ก และสแนปแชต ต้องออกมายอมรับว่า แอป TikTok คือคู่แข่งที่น่ากลัว
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกเหนือจากความนิยมอย่างล้นหลามเกินหน้าเกินตาคู่แข่งในสหรัฐแล้ว ประเด็นสำคัญคือ บริษัท ไบท์แดนซ์ เจ้าของแอป TikTok นั้นเป็นบริษัทสัญชาติจีน ทำให้รัฐบาลสหรัฐมีความกังวลเรื่องการจารกรรมข้อมูล เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของบริษัทเอกชนจีน แม้ว่า TikTok จะยืนยันมาตลอดว่าไม่มีการเซนเซอร์ข้อมูลเกี่ยวกับจีนและจะไม่ยอมส่งมอบข้อมูลใด ๆ ให้กับรัฐบาลจีนเป็นอันขาดก็ตาม ดังนั้น การขายกิจการในสหรัฐให้กับไมโครซอฟต์จึงเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง โดย TikTok เองยังสามารถรักษาแบรนด์ให้คงอยู่ในสหรัฐต่อไป และไม่ต้องสู้รบปรบมือกับรัฐบาลสหรัฐอีก ทั้งนี้ ข่าวระบุว่า การซื้อขายกิจการครั้งนี้จะครอบคลุมถึงกิจการของ TikTok ในตลาดสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ข้อมูลอ้างอิง
Q&A: TikTok saga continues with Microsoft talks. Now what?
Trump says TikTok sale can go through but only if the US gets a cut