thansettakij
เวียดนามเล็ง 7 กลุ่มสินค้า ได้ประโยชน์จาก RCEP อื้อ

เวียดนามเล็ง 7 กลุ่มสินค้า ได้ประโยชน์จาก RCEP อื้อ

20 พ.ย. 2563 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2563 | 12:06 น.

เวียดนามหวังสูง หลังลงนาม RCEP เล็ง 7 กลุ่มสินค้าศักยภาพ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศการ สื่อสาร สิ่งทอ รองเท้า การเกษตร และรถยนต์ ได้ประโยชน์มหาศาล

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต./ ทูตพาณิชย์) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานโดยอ้างอิงสื่อของเวียดนามว่า จากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ผู้นำ 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามในความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 29 ของ GDP ทั่วโลก

 

สนธิสัญญาดังกล่าวลงนามทางออนไลน์โดยผู้นำของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึง ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ซึ่งเวียดนามเป็นประธานในกรุงฮานอย

 

ข้อตกลงการค้าเสรี(FTA) จะช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามสามารถเข้าถึงอีก 1 ใน 3 ของประชากรโลก สร้างโอกาสในการเติบโตของการส่งออกในตลาด ซึ่งรวมกันเป็นประมาณ 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29 ของ GDP โลก

 

ความตกลงดังกล่าวให้คำมั่นสัญญาที่จะรักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับสินค้า บริการและการลงทุน การประสานกฎ แหล่งกำเนิดสินค้าทุกฝ่ายและเสริมสร้างมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พัฒนาห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน)ใหม่ในภูมิภาค

 

 RCEP มี 20 หัวข้อ ซึ่งครอบคลุมหลักการที่ไม่เคยปรากฏในข้อตกลงทางการค้าก่อนหน้าระหว่างอาเซียนและประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ยังประกอบด้วยหัวข้อที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา อี-คอมเมิร์ซ การแข่งขัน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทางเทคนิคและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้รัฐสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศและประเทศหุ้นส่วน 3 ประเทศจะต้องส่งเอกสารการให้สัตยาบันไปยังผู้เก็บรักษา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“จุรินทร์”  Kick Off  RCEP  เร่งส่งสภาฯให้สัตยาบัน

RCEP จะเป็นแต้มต่อ แต่ไม่ใช่ประโยชน์เกิดเองโดยอัตโนมัติ

คลิป เบื้องหลัง RCEP วินาที 15 ประเทศ ลงนามแบบออนไลน์ 

นายกฯจีน ประกาศชัยชนะ 15 ประเทศลงนาม “RCEP”

 

 

เวียดนามเล็ง 7 กลุ่มสินค้า ได้ประโยชน์จาก RCEP อื้อ

 

สมาชิก RCEP ระบุว่าข้อตกลงเปิดกว้างและครอบคลุม ดังนั้นจึงยังคงเปิดให้อินเดีย ซึ่งถอนตัวจากการเจรจาสามารถกลับเข้าร่วมได้แม้ว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม

 

ประเทศที่ลงนามใน RCEP สามารถเข้าร่วมการเจรจากับอินเดียเมื่อใดก็ตามที่อินเดียยื่นเอกสาร เพื่อแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมสนธิสัญญา อินเดียยังสามารถเข้าร่วมการประชุม RCEP ในฐานะผู้สังเกตการณ์และในกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการโดยผู้ลงนาม RCEP

 

RCEP จะช่วยสร้างตลาดส่งออกที่มั่นคงในระยะยาวสำหรับประเทศอาเซียนในบริบทของห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังจะสร้างกรอบกฎหมายระดับภูมิภาคสำหรับนโยบายการค้า การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา อี-คอมเมิร์ซ การระงับข้อพิพาทและอื่น ๆ โดยรวมจะมีส่วนช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เป็นธรรมในภูมิภาค ตัวอย่างเช่น เวียดนามสามารถนำเข้าชิปอิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นำเข้าวัสดุสิ่งทอจากจีน จากนั้นผลิตสินค้าในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ และในขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายในกลุ่ม เพื่อใช้ประโยชน์จากการกำหนดอัตราภาษี

 

นาย Jason Yek นักวิเคราะห์ความเสี่ยงอาวุโสของประเทศในเอเชียและบริษัทวิจัยตลาด Fitch Solutions ได้กล่าวว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญของเวียดนามที่คาดว่า จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงนี้(RCEP)ได้แก่ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศการ สื่อสาร สิ่งทอ รองเท้า การเกษตร และรถยนต์

 

สนธิสัญญาจะช่วยให้ผู้ประกอบการในเวียดนามเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาด GDP ใหญ่กว่าถึง 2 เท่าของกลุ่มที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ลงนามโดย 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลีญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์เปรู สิงคโปร์และเวียดนาม มีผลบังคับใช้ในเวียดนามในเดือนมกราคม 2562

 

สคต,ณ กรุงฮานอย ให้ความเห็นว่า การลงนามใน RCEP เป็นแรงผลักดันใหม่สำหรับการพัฒนาการค้าในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่ลงนามข้อตกลงมี ความสำคัญอย่างมากสำหรับเวียดนาม เมื่อเวียดนามเป็นประธานอาเซียนในปี 2563 และมีส่วนช่วยในการบรรลุข้อตกลงเพื่อลงนาม ใน RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คาดหวังมานาน ข้อตกลง RCEP จะช่วยเพิ่มการส่งออกของเวียดนามไปยัง ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงก็เป็นความท้าทายสำหรับเวียดนามในการแข่งขันกับสินค้าจากคู่ค้าใน RCEP