ญี่ปุ่นรำลึก 10 ปี “11-03-2011” วันที่ “3 หายนะภัย” กระหน่ำในวันเดียว

11 มี.ค. 2564 | 22:54 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2564 | 06:10 น.

ทั่วประเทศญี่ปุ่นร่วมรำลึกเหตุการณ์ “11-03-2011” วันที่ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 18,500 คน

เมื่อเวลา 14.26 น. ของวันที่ 11 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นวันและเวลาเดียวกันกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่เกิด แผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ตามมาด้วย คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่ม ก่อนจะเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศร่วมกันสงบนิ่งไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเวลา 1 นาที  เหตุการณ์ “11-03-2011” ครั้งนั้นนับเป็น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 18,500 คน

พิธีรำลึกครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์สึนามิถล่ม จัดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติในกรุงโตเกียว สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ซึ่งเสด็จเข้าร่วมพิธี ตรัสถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "เป็นโศกนาฏกรรมที่ลืมไม่ลง”  ผู้ที่เจ็บปวดจำนวนมากมายแม้จะต้องเผชิญกับความสูญเสียเกินกว่าจะจินตนาการ แต่พวกเขาก็สามารถก้าวข้ามความยากลำบากนั้นมาได้ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ด้านนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สึกะ ของญี่ปุ่น กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า ผู้รอดชีวิตมาแล้ว ในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ซึ่งเป็นอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 แต่กระนั้นก็ตาม เชื่อว่าญี่ปุ่นก็จะยังคงสามารถก้าวข้ามทุก ๆวิกฤตไปได้ด้วยความกล้าหาญและความหวัง

นอกจากนี้ ทั่วประเทศยังมีการจัดงานรำลึกของภาครัฐและเอกชน โดยเป็นการจัดกิจกรรมอย่างเรียบง่ายและสมถะ เว้นระยะห่างทางสังคมตามบริบท New Normal เนื่องจากเป็นการจัดรำลึกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงเป็นความท้าทายที่สุดของรัฐบาลญี่ปุ่น และรัฐบาลทั่วโลกในเวลานี้

ญี่ปุ่นรำลึก 10 ปี “11-03-2011” วันที่ “3 หายนะภัย” กระหน่ำในวันเดียว

โศกนาฏกรรมเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาในวันที่ 11 มี.ค. 2011 นั้น ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับ 3 หายนะภัยในวันเดียวกันคือทั้งแผ่นดินไหวระดับ 9.0 ซึ่งรุนแรงที่สุดบันทึกไว้เป็นอันดับที่ 5 ของโลกนับแต่ที่มีการจดบันทึกสถิติกันมา ตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิที่มีความสูงระดับสุดที่ 40.5 เมตรถาโถมเข้าถล่มจังหวัดชายฝั่ง และการระเบิดในเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกูชิมะหมายเลข 1 ซึ่งเป็นผลมาจากแผ่นดินไหว ทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง ทางการต้องสั่งอพยพประชาชนอย่างเร่งด่วน

จนแม้ขณะนี้ญี่ปุ่นก็ยังคงมีเมืองร้างที่เป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ และ “แผลเป็น” ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมงในกลุ่มจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสีรั่วไหลในครั้งนั้น

ญี่ปุ่นรำลึก 10 ปี “11-03-2011” วันที่ “3 หายนะภัย” กระหน่ำในวันเดียว

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจังหวัดริมชายฝั่งในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณในการบูรณะปฏิสังขรณ์และฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆของเมืองรวมวงเงินราว 30 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 8.65 ล้านล้านบาท)

แม้ว่าปัจจุบันถนน ทางรถไฟ บ้านพักอาศัยส่วนใหญ่จะได้รับการซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการสร้างแนวกำแพงกันคลื่นตามแนวชายฝั่ง แต่ในบางจังหวัดก็ยังมีพื้นที่ที่ถูกปล่อยร้างว่างเปล่าให้เห็น แม้เวลาจะผ่านไป 10 ปีแล้วก็ตาม ยังคงมีชาวญี่ปุ่นมากกว่า 40,000 คนที่ไม่สามารถย้ายกลับไปพักอาศัยในบ้านหลังเดิมของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นชาวเมืองที่อยู่รายรอบโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกูชิมะซึ่งในครั้งนั้นมีการสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่รัศมีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจำนวนกว่า 160,000 คน

สื่อต่างประเทศรายงานว่า บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือเทปโก (TEPCO) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานไฟฟ้าดังกล่าว แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถโยกย้ายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เกิดระเบิดออกไปจากโรงงานแม้จะมีการซ่อมแซมแล้วก็ตามเนื่องจากเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับความปลอดภัยและต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์และอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 40 ปี นอกจากนี้ เทปโกยังมีภารกิจซึ่งเป็นความท้าทายในการกักเก็บและกำจัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาและถูกกักเก็บไว้ภายในโรงงานปริมาณหลายล้านตัน บรรจุอยู่ในถังเก็บจำนวนมากกว่า 1,000 ลูกที่คาดว่าจะเต็มขีดความสามารถในการจัดเก็บ 1.37 ล้านตันในช่วงกลางปีหน้า(2565)  

แผนการระบายน้ำปนเปื้อนกัมมันภาพรังสีเหล่านี้ลงสู่มหาสมุทรถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งอุตสาหกรรมประมงในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างผลกระทบที่ไม่อาจประเมินได้ทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและอุตสาหกรรมประมงที่ต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัว

ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า จังหวัดฟุคุชิมะกำลังจะเป็นเจ้าภาพการจัดพิธีวิ่งคบเพลิงกีฬาโอลิมปิกในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางวิ่ง  ปีนี้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก  การเริ่มจุดวิ่งคบเพลิงที่จังหวัดฟุคุชิมะและตัดผ่านจังหวัดมิยาหงิ และอิวาเตะ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์หายนะภัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วมากที่สุดและมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดนั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งการฟื้นตัวและความกล้าหาญในการฝ่าฟันวิกฤตของญี่ปุ่น   

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: