บทเรียนเจ็บ ๆ จากวิกฤตโควิดของมาเลเซีย

21 พ.ค. 2564 | 04:07 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2564 | 12:02 น.

บทเรียนครั้งนี้เจ็บลึก มาเลเซียล็อกดาวน์การเดินทางทั้งประเทศก็ยังสกัดโควิด-19ไม่อยู่ ตรงกันข้าม ยอดผู้ติดเชื้อรายวันกลับพุ่งทำนิวไฮ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มาเลเซีย ทำสถิติติดโควิดเพิ่มวันเดียว 6,075 ราย นับเป็น ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่มากสุด นับตั้งแต่เริ่มมี การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศมาเลเซีย โดยในวันเดียวกันนั้น ไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านมียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ระดับ 3,394 ราย  

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียไม่อาจนิ่งนอนใจกับสถิติดังกล่าว เพราะ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่มากสุดทุบสถิตินิวไฮ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นในบริบทที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการห้ามประชาชนเดินทางทั่วประเทศเพื่อคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

บทเรียนเจ็บ ๆ จากวิกฤตโควิดของมาเลเซีย

นูร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์ อธิบดีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียทวีตข้อความในวันดังกล่าวว่า รัฐสลังงอร์ ซึ่งเป็นรัฐที่ร่ำรวยที่สุดของมาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อใหม่มากสุดที่ 2,251 ราย ตามด้วยรัฐยะโฮร์ 699 ราย และกรุงกัวลาลัมเปอร์ 660 ราย

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในมาเลเซียทำสถิติแตะ 4,000 รายต่อวันเป็นครั้งแรกในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา หลังมีการตรวจพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ล่าช้า โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า นับจนถึงขณะนี้ มีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มแล้ว จำนวนไม่ถึง 3% ของประชากรทั้งประเทศ

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลภายใต้การนำของนายมูห์ยิดดิน บิน ฮาจี มูฮัมมัด ยัซซิน นายกรัฐมนตรี ที่เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มเข้ามาอาละวาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

นอกจากการสะสางคดีทุจริตของรัฐบาลชุดก่อน ๆ และภารกิจเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ-เพิ่มการลงทุนภายในประเทศแล้ว โจทย์ใหญ่สุดของนายกฯมาเลเซีย ก็คือการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 เหมือน ๆกับในหลายประเทศทั่วโลก ความท้าทายของมาเลเซียคือการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งทำได้ด้วยการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันให้เร็วและครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุดเพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ก่อนที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ต่อไปอีกซึ่งจะทำให้การป้องกันยุ่งยากมากขึ้น  

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเพื่อสามารถควบคุมโรคได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าที่เป็นอยู่ เช่นที่รัฐสลังงอร์ ซึ่งเป็นรัฐที่ร่ำรวยที่สุดของมาเลเซียและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิต เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ล่าสุดกลับมียอดผู้ติดเชื้อใหม่มากสุดในประเทศ กระนั้นก็ตาม ทางการก็ยังลังเลที่จะใช้มาตรการเด็ดขาดควบคุมโรคเพราะเกรงจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

สภาวะดังกล่าวเมื่อประกอบกับโครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลกลางที่ล่าช้า ก็ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์บานปลาย รัฐบาลท้องถิ่นรัฐสลังงอร์เริ่มจัดเตรียมแผนซื้อวัคซีนของตัวเอง แทนการพึ่งพาส่วนกลางเพียงทางเดียว

ต้องควบคุมให้ได้คือคลัสเตอร์โรงงาน

ปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนของมาเลเซียยังถือว่าล่าช้าไม่ทันการณ์ ยอดผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมีสัดส่วนไม่ถึง 3% ของประชากรทั้งประเทศ การประเมินจากแบบจำลองของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียพบว่า มีความเป็นไปได้ที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะขยับขึ้นทะลุ 8,000 รายต่อวันในเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้ ถ้าหากประชาชนมาเลเซียการ์ดตกและไม่ให้ความร่วมมือกับมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการล็อกดาวน์ซึ่งแม้ขณะนี้ยังไม่เต็มรูปแบบ ก็ยังถูกคัดค้านอย่างหนักจากผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) สมาพันธ์นายจ้างแห่งมาเลเซีย (Malaysian Employers Federation: MEF) ออกมาคัดค้านหากรัฐจะพิจารณาล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบรอบใหม่ โดยอ้างว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น จะมีคนตกงานอีกเป็นจำนวนมาก ธุรกิจต้องปิดตัวระเนนระนาดและล้มละลาย เพราะจากประสบการณ์มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นรอบแรกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 นั้น ภาคเอกชนต้องสูญเสียรายได้เฉลี่ยวันละ 2.4 พันล้านริงกิต และมีบริษัทที่ต้องปิดกิจการอย่างถาวรไปแล้ว 32,000 บริษัทในปีที่ผ่านมา  

“แม้กระทั่งตอนนี้ เราอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์แบบบางส่วน ภาคธุรกิจก็ยังต้องสูญเสียรายได้วันละประมาณ 300 ล้านริงกิต” แถลงการณ์ของ MEF ระบุ

นายชัมซุดดิน บาร์ดาน ผู้อำนวยการบริหาร MEF กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบอีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้ ก็เชื่อว่า ผู้ประกอบการเดนตายที่รอดมาได้ในปีที่แล้ว อาจถึงคราวต้องปิดฉากกิจการในปีนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าการประกาศล็อกดาวน์จะครอบคลุมระยะเวลายาวนานแค่ไหน และขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพร้อมให้เงินเยียวยาและมอบความช่วยเหลือให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะในรูปการให้เงินอุดหนุนหรือการพักชำระหนี้   

ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง