บิ๊กทุนรุมทึ้งสัมปทานต่อขยายยกระดับ”รังสิต-บางปะอิน”

27 ส.ค. 2562 | 12:34 น.

ขาใหญ่มาครบ บีทีเอส –บีอีเอ็ม –ดอนเมืองโทลเวย์  จ่อ ชิง ประมูล ต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน  ยาว18กิโลเมตร เชื่อม มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ค่าก่อสร้างรวม งานระบบ4หมื่นล้าน กรมทางหลวง  

ปัญหาจราจรลุกลามหนักจากเมืองหลวงขยายวงออกสู่ภูมิภาค ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมเร่งลงทุนโครงข่ายบรรเทาความเดือดร้อนและการขยายตัวของเมือง  เช่นเดียวกับ กรมทางหลวง  จัดทำโครงการรับฟังเสียงเอกชน  โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์ ) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร - ด่านแม่สาย/เชียงของ (M5) ในระยะเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 25602579) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ทางด้านทิศเหนือ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต และเป็นโครงข่ายทางยกระดับที่เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้โดยตรง ช่วยให้การเดินทางมีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณ และเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมทางหลวงจึงเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการฯ

ทั้งนี้นายอานนท์  เหลืองบริบูรณ์  อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่ามีเอกชนรายใหญ่ มีประสบการณ์ให้ความสนใจโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายยกระดับช่วงรังสิต-บางปะอิน กันมาก เช่น บีทีเอสกรุ๊บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM)   บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองจำกัด (มหาชน) เป็นต้น

 “ ทางยกระดับส่วนต่อขยายเส้นนี้ จะก่อสร้าง ต่อจากทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ จากรังสิต วิ่งไป บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์  บางปะอิน-โคราช กลายเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์   โดยมีระยะทาง  ประมาณ 18กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 2.8หมื่นล้านบาท เมื่อรวมงานระบบจะมีมูลค่าถึง 4หมื่นล้านบาท คาดว่าหากมีการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเปิดใช้เส้นทางได้ภายในปี 2568”   

สำหรับแนวสายทาง มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ปลายทางยกระดับอุตราภิมุขที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของถนนพหลโยธิน) จุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+880 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน นครราชสีมา (M6) รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 8 แห่ง

โครงการแบ่งขอบเขตการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ ภาครัฐ/เอกชนเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน และเอกชนติดตั้งงานระบบตลอดทั้งโครงการ โดยครอบคลุมช่วงรังสิต-บางปะอิน และช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต (ซึ่งเปิดให้บริการในปัจจุบัน) โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน ระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็น ผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา (ครอบคลุมช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 10 - 30 ปี