กรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีนโยบายลดค่าโดยสารค่าผ่านทางระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทั้งระบบ เยียวยาค่าครองชีพให้กับประชาชน
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่. บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บีทีเอสยินดีให้ความร่วมมือลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ทั้งส่วนที่ให้บริการปัจจุบันและ ส่วนต่อขยายหาก ได้รับการต่ออายุสัมปทาน 30ปี โดยต้องรอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ ต่อข้อถามที่ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายสุรพงษ์ ย้ำว่าเป็นไปได้ไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขสัญญาแต่จะลด ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องเจรจากัน ส่วนค่าโดยสาร 65บาทตลอดสาย จากเดิมตลอดสาย135บาทที่ตกลงกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) จาก สมุทรปราการวิ่งยาวไปคูคต ถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับรถโดยสารประเภทอื่น
“ บีทีเอส ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม แต่ เวลานี้ยังไม่มี ใครเข้ามาเจรจา แต่หากจะให้เหลือตลอดสาย15บาทคงจะยากเหมือนกัน แต่ขอพิจารณาตัวเลขที่ เหมาะสมจะดีกว่า ซึ่งปัจจุบัน บีทีเอสเส้นหลัก หรือส่วนที่เปิดให้บริการ เก็บอัตราค่าโดยสาร สูงสุด44บาท ส่วนต่อขยาย 15บาท หากวิ่งระยะยาวๆ ก็จะดูว่าแพง แต่ ถามว่าคุ้มไหมกับระยะเวลา ไม่มีปัญหารถติด ผมว่าคุ้มมากสำหรับราคานี้ ”
สอดคล้องกับ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า แม้ การปรับลดราคา อาจจะส่งผลกระทบรายได้ แต่อัตราที่จะปรับลด น่าจะได้ข้อสรุป ภายในวันที่ 6 ก.ย.นี้ หากคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารขนส่งระบบราง ได้ข้อสรุปแล้วนำเสนอต่อ รมว.คมนาคมเป็นที่เรียบร้อย รฟม.จะมีการนำเสนอแนวทางการลดค่าโดยสารเข้าสู่การประชุม บอร์ด รฟม.ภายในเดือน ก.ย.นี้
“รฟมเป็นคู่สัมปทานกับเอกชน สำหรับสายสีน้ำเงิน และจ้างเอกชนเดินรถ ส่วนของสายสีม่วง ผมยืนยันว่าการปรับลดราคา รฟม.สามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 แบบล่าสุดได้จัดทำระบบซอฟต์แวร์ไว้แล้ว ขณะที่การเชื่อมต่อตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.นี้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเรื่องการจัดการรายได้ในระบบตั๋วร่วมภาพรวมและการติดตั้งซอฟแวร์อ่านบัตร"
ขณะ นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สะท้อนว่า หลังกรมการขนส่งทางราง มีแนวทางลดค่าครองชีพให้แก่ผู้ใช้บริการระบบขนส่งรถไฟฟ้า โดยเตรียมเสนอมาตรการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางราง อย่างไรก็ตาม ได้แบ่ง วิธีดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ลดค่าโดยสารกำหนดเพดานสูงสุดของการเดินทางนอกชั่วโมงเร่งด่วน และ2.การลดค่าโดยสารเฉลี่ยจากการจัดทำตั๋วเดือนทั้งนี้ มองว่าค่าโดยสาร ชั่วโมงเร่งด่วน สามารถลดได้เหลือ สูงสุดไม่เกิน 25 บาทต่อคนต่อเที่ยว
“รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะลดราคา จากราคาปกติคิดตามระยะทาง 15-45 บาท ปรับมาจัดเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 25 บาทต่อคนต่อเที่ยว หรือ 25 บาทตลอดสาย คาดว่าจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น10% “
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่าในวันที่ 6 กันยายนนี้ คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง จะนำเสนอมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชนด้วยการเปิดให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าในระบบใดก็ได้ครบ 15,000 บาท สามารถนำเงินมาลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในรูปแบบเดียวกับนโยบายช้อปช่วยชาติ รวมทั้งจะปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 2 แนวทาง คือ ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแบบรายเดือน และในช่วงที่ผู้โดยสารไม่นิยมเดินทางหรือออฟพีก
ทั้งนี้ รถไฟฟ้า BTS ตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 26 บาทต่อเที่ยว ไม่มีค่าโดยสารช่วงออฟพีก เพราะรถไฟฟ้า BTS มีผู้ใช้บริการต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ซึ่งทั้งหมดจะนำเสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณา และคาดว่าจะเริ่มทดลองลดราคาช่วงออฟพีกได้ในเดือนตุลาคมนี้ และมั่นใจว่าจะทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นอีก 10%
สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บค่าโดยสารที่ 15 - 45 บาท ต่อคนต่อเที่ยว หรือเฉลี่ยคนละ 31 บาทต่อเที่ยว หากลดราคาเป็นตั๋วรายเดือน ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 25 - 30 บาทต่อเที่ยว ส่วนราคาที่จะเก็บช่วงออฟพีก จะอยู่ที่ 15 - 25 บาทต่อเที่ยว
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะลดเหลือ 15 - 20 บาทต่อเที่ยว ส่วนราคาที่จะเก็บช่วงออฟพีก จะอยู่ที่ 14 - 25 บาทต่อเที่ยว, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ตั๋วรายเดือนค่าโดยสารจะอยู่ที่ 20 - 25 บาทต่อเที่ยว ส่วนราคาที่จะจัดเก็บช่วงออฟพีก จะอยู่ที่ 16 - 30 บาทต่อเที่ยว