ในงานสัมมนา “บี 10 ราคาปาล์มจะรุ่ง หรือร่วง” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก และสื่อในเครือเนชั่น ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ณ สนามหน้าเมือง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บี 10 นํ้ามันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” โดยชี้ให้เห็นว่า ปัญหาราคาปาล์มนํ้ามันที่ตกตํ่ามาอย่างต่อเนื่อง เกิดจากปริมาณสต๊อกของนํ้ามันปาล์มดิบหรือ ซีพีโอที่สูงถึง 5 แสนตัน
สร้างสมดุลปาล์มนํ้ามัน
ดังนั้นการแก้ปัญหาจะต้องให้สต๊อกซีพีโอมาอยู่ในระดับปกติที่ 2.5 แสนตัน เพื่อพยุงราคาผลผลิตปาล์มให้สูงขึ้นไปได้ จึงเป็นที่มาของนโยบายการส่งเสริมใช้นํ้ามันดีเซลบี 10 เป็นนํ้ามันดีเซลพื้นฐานของประเทศ ที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพราะมีปริมาณรถยนต์ที่ใช้ได้กว่า 50% จะสามารถดูดซับซีพีโอ 5-6 แสนตัน เข้าสู่ภาวะสมดุลได้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป และนโยบายนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย หรือเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมไบโอดีเซลของประเทศก็ว่าได้ ซึ่งล่าสุดทราบว่าขณะนี้ราคาผลปาล์มที่ลานเทรับซื้อได้ขยับขึ้นไปที่ 4.10-4.30 บาทต่อกิโลกรัมและโรงสกัดรับซื้อที่ราว 4.50 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
เร่งแก้ปัญหาลักลอบซีพีโอ
นอกจากที่กล่าวแล้ว จะต้องแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าซีพีโอ ซึ่งจะใช้วิธีทั้งการติดตั้งมิเตอร์ที่โรงสกัดและการใส่สาร มาร์กเกอร์ลงในซีพีโอ เพื่อการตรวจสอบจะทำให้มั่นใจได้ว่าผลปาล์มทุกเมล็ดที่นำมาผลิตบี 100 นั้น อยู่ในประเทศ รวมทั้ง การนำไปสู่การกำหนดซื้อขายปาล์มนํ้ามันล่วงหน้า 3 เดือน ที่เกษตรกรจะทราบราคาที่แน่นอน ทำให้ไม่ต้องรีบตัดปาล์มอ่อนส่งลานเท และทำให้โรงกลั่นนํ้ามันและผู้ค้านํ้ามันสามารถวางแผนการจัดซื้อได้
ต่อยอดสู่กรีนดีเซล
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินงานตามที่กล่าวได้แล้ว จากนี้ไปจะต้องมาช่วยกันดูเรื่องการเพาะปลูกปาล์มที่จะไปทำให้ผลผลิตดีขึ้น ทั้งการพัฒนาสายพันธ์ุ การส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูกทั้งแปลงเล็กและแปลงใหญ่ การควบคุมต้นทุนการเพาะปลูกให้ลดลง การให้ความรู้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการยกระดับไบโอดีเซล ขึ้นไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตนํ้ามันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์หรือกรีนดีเซล ที่สามารถใช้กับเครื่องบินได้ ซึ่งจะทำให้บี 100 ที่เคยจำหน่ายได้ที่ 20 บาทต่อลิตร จะขึ้นไป 25-30 บาทต่อลิตรได้ หรือต่อยอดไปสู่ไบโออีโคโนมี ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ที่จะทำให้ราคาซีพีโอขึ้นไประดับ 60 บาทต่อกิโลกรัมได้ เป็นต้น และส่งผลมายังราคาปาล์มนํ้ามันที่ 6-7 บาทต่อกิโลกรัมได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาปาล์มนํ้ามันดีขึ้นแล้ว จะต้องมีการควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกด้วย เพราะหากขยายพื้นที่มากขึ้น จนทำให้ผลผลิตออกมาล้นตลาด ก็จะฉุดราคาปาล์มลงได้ ดังนั้น จะเปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน เพื่อให้ทราบปริมาณการปลูกที่ชัดเจนมากขึ้น
ปตท.ยันมีบี10ขายทุกปั๊ม
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันปตท.มีสถานีบริการนํ้ามัน ที่จำหน่ายบี 10 แล้วกว่า 100 แห่ง ซึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีจำหน่ายแล้ว 10 แห่ง และในภาคใต้ราว 50 แห่งแล้ว และคลังนํ้ามันที่สุราษฎร์ธานีและสงขลา ก็พร้อมจ่ายนํ้ามันบี10 แล้วเช่นกัน โดยยืนยันว่านับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จะมีบี 10 จำหน่ายครบทุกสถานีบริการนํ้ามัน
ปัจจุบันมีรถยนต์กว่า 50% ของรถยนต์ดีเซลที่สามารถใช้บี 10 ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์วิจัยของปตท.ได้ทำการทดสอบการใช้บี 10 ทั้งในห้องทดลอง และสภาพถนนการใช้งานจริงกว่า 1 แสนกิโลเมตร และนำผลของการใช้บี 7 และบี 20 มาเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพการใช้งานไม่แตกต่างกัน ไม่มีชิ้นส่วนเครื่องยนต์สึกหรอ การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่มีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม หากปาล์มนํ้ามันขึ้นไปถึง 5 บาทต่อกิโลกรัมได้ แล้วเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูก 2 เท่าตัว จะทำให้ผลผลิตออกมามาก จะส่งผลทำให้ราคาปาล์มร่วงลงมาอีกได้ หากจะเพิ่มพื้นที่ปลูกควรให้มีความสอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้นํ้ามันดีเซลที่เพิ่มขึ้น 1-2% ต่อปี
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
ที่สำคัญเพื่อให้การส่งเสริมใช้ไบโอดีเซลเกิดความยั่งยืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมบูรณาการในการขับเคลื่อน มีการนำบิ๊กดาต้าหรือระบบเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการผลิต รวมถึงการลักลอบนำเข้านํ้ามันปาล์มดิบหรือซีพีโอ ที่จะต้องสกัดให้ได้ ซึ่งปตท.จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันเป็นวาระแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาปาล์มทั้งระบบ
ลานเทมั่นใจไปถึง 5 บาท
นางสาวจุฑารัตน์ เพชรรักษ์ ตัวแทนลานเทปาล์มผู้ใหญ่ขาว กล่าวว่า การส่งเสริม นโยบายบี 10 นํ้ามันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้น ควรจะเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ซีพีโอที่ล้นสต๊อกได้ หากรัฐดำเนินนโยบายนี้อย่างจริงจัง เชื่อว่า จะดูดซับซีพีโอได้มาก และจะได้เห็นราคาปาล์มขยับตัวต่อเนื่อง หรือได้เห็นที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม เพราะปัจจุบันราคาปาล์มที่ลานเท รับซื้ออยู่ที่ราว 4.10-4.30 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว จากกระแสการส่งเสริมใช้ดีเซลบี 10 ของรัฐบาล และจากปัญหาภัยแล้ง และความเสียหายจากพายุในพื้นที่นครศรีธรรมราชเสียหายไปกว่า 20%
นางสาวจุฑารัตน์ เพชรรักษ์
นักวิชาการยันรถใช้บี10ได้
นายอนุรักษ์ ตรีเพ็ชร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การนำนํ้ามันดีเซลบี 10 สามารถนำมาใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป ประสิทธิภาพ หรือสมรรถนะของเครื่องยนต์ไม่มีปัญหา ช่วยสร้างความสมดุลให้กับปาล์มนํ้ามันในระบบ และจะส่งผลต่อเสถียรภาพของราคาปาล์ม อย่างไรก็ตาม อยากจะเห็นรัฐบาลส่งเสริมการใช้ดีเซล บี 20 เป็นนํ้ามันดีเซลพื้นฐาน เพื่อให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็ง มีการส่งเสริมการรวมกลุ่ม การลดต้นทุนการผลิต เพื่อเป็นแนวทางรับมือหากในอนาคตราคาปาล์มร่วงลงมาอีก
นายอนุรักษ์ ตรีเพชร
เกษตรกรขอรัฐช่วยลดต้นทุน
นายภาณุวัชร บุญรอดรักษ์ ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม กล่าวว่า กระทรวงพลังงานดำเนินนโยบายนี้ มั่นใจว่าราคาปาล์มจะขยับขึ้นแน่นอน เป็นความหวังของชาวสวนปาล์มทั้งประเทศ เป็นความฝันของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มที่รัฐบาลจะเดินนโยบายจริงจัง แต่เนื่องจากปุ๋ยต้นเป็นทุนหลักในการเพาะปลูก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือในการลดต้นทุน และการเข้ามาส่งเสริมอาชีพเสริม เช่น การปลูกพืชชนิดอื่นๆ แซมในสวนปาล์ม รวมทั้งการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น การแทงทะลายปาล์ม และการขึ้นทะเบียนเกษตรกรแปลงใหญ่ เป็นต้น
นายภาณุวัชร บุญรอดรักษ์
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562