การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 มี นายอุตตมสาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ประสานไปยังจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อเสนอโครงการจัดการขยะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี สู่ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ทั้งขยะบก ขยะบนเกาะ และขยะในทะเล ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน รวมทั้งจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ
อีกทั้งให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมในการศึกษาเพื่อพัฒนาการลงทุนโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรให้เหมาะสมกับปริมาณตามความต้องการที่เกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาในวันที่ 18 ธันวาคมนี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่อีอีซีในปี 2561 ที่มีอยู่ราว 4.2 พันตันต่อวัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และคาดว่าในปี 2580 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 พันตันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันการจัดการขยะยังขาดประสิทธิภาพ และไม่เพียงพอกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีฝังกลบ เกิดผลเสียจากปัญหาการใช้พื้นที่เป็นบริเวณกว้างจนไม่สามารถรองรับขยะที่เกิดขึ้น และขยะสะสมใหม่ได้ และยังเกิดผลกระทบต่อการปนเปื้อนนํ้าใต้ดินจากการรั่วซึม หากใช้วิธีการฝังกลบแบบเดิม จำเป็นต้องหาพื้นที่เพิ่มสำหรับรองรับปริมาณขยะสูงถึง 1.66 ไร่ต่อวัน หรือต้องเตรียมพื้นที่ฝังกลบประมาณ 2,000 ไร่ ใน 20 ปีข้างหน้า
การดำเนินงานแก้ปัญหาดังกล่าว สกพอ. จึงได้ร่วมกับบริษัท GPSC เสนอต้นแบบการกำจัดขยะแบบสมบูรณ์ในอีอีซี ด้วยต้นแบบโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง ที่ GPSC ร่วมกับ อบจ.ระยอง พัฒนาโครงการและได้ลงทุนนำร่องพัฒนาโรงขยะ RDF และโรงไฟฟ้า ที่สามารถกำจัดขยะได้วันละ 500 ตัน ผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 2.4 พันล้านบาท โดยสกพอ.จะนำต้นแบบนี้ ไปขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ให้ครอบคลุมมากขึ้น 6 แห่ง จะสามารถกำจัดขยะรายวันและขยะสะสมในพื้นที่ฝังกลบได้ราว 6,024 ตันต่อวัน และผลิตไฟฟ้าได้ราว 120 เมกะวัตต์
ส่วนการลงทุนนั้น ทาง GPSC จะลงทุนโรงกำจัดขยะที่เหมาะสมต่อการกำจัดขยะตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 2.52 หมื่นล้านบาท จากการลงทุนตั้งโรงขยะ RDF และโรงไฟฟ้าขยะ (เงินลงทุนรวมราว 210 ล้านบาทต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์) หากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าโรงงานกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเปิดใช้งานได้ในปี 2565
ทั้งนี้ มีเป้าในการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน และกำจัดขยะที่สะสมกว่า 5.57 ล้านตัน ในพื้นที่อีอีซี ให้หมดไปภายใน 12 ปี โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำข้อเสนอโครงการจัดการขยะแบบครบวงจรในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดการขยะให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเป้าได้
“การฝังกลบขยะไม่เหมาะสมสำหรับแก้ปัญหาระยะยาว แม้จะเป็นวิธีที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน เพราะมีต้น ทุนถูกใช้เทคโนโลยีที่ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากที่ต้องใช้พื้นที่เป็นบริเวณกว้างจนไม่มีพื้นที่รองรับปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น และขยะที่สะสมได้ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ฝังกลบถูกกระจายเกือบเต็มพื้นที่อีอีซี และเปิดใช้งานมากกว่า 10 ปี ยังไม่เพียง พอในการรองรับปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดเพิ่มขึ้น หากยังใช้วิธีการฝังกลบแบบเดิม จะต้องจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมมากกว่า 2,000 ไร่ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะหาพื้นที่เหล่านั้นได้ โดยไม่มีปัญหากับชุมชน และปัญหาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นอีอีซีต้องการระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาขยะเรื้อรังของประเทศได้อย่างยั่งยืน”
หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,526 วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2562