นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ.ได้ดำเนินโครงการ Genius The Idol ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจระยะสั้นสู่ความสำเร็จ เพื่อปั้นผู้ประกอบการให้เป็น “ไอดอล” ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และมอบหมายให้ กสอ. เร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการปั้นเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ให้ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
“ประเทศไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด ด้วยการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสร้างค์ เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงระบบการบริหารจัดการแบบภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตภาคการเกษตร”
สำหรับโครงสร้างหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ห้วงเวลา คือ ห้วงที่ 1 ทุบ คือ การทุบทั้งตัวตนของสินค้าและตัวตนของผู้ประกอบการ เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงมือทำกับธุรกิจของตนเอง ห้วงที่ 2 สร้าง โดยตั้งเป้าหมายความสำเร็จที่ชัดเจน เป็นการตีโจทย์ทางธุรกิจ มองทะลุรอบด้าน เพราะการทำธุรกิจต้องเรียนรู้การวางแผนและกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เพื่อรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ผนวกแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเข้ามาใช้ในการพัฒนาความคิดและสินค้า และ ห้วงที่ 3 ไปต่อ พร้อมยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ส่งเสริมและเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี ด้วยการขยายช่องทางการตลาดที่มีศักยภาพ ก้าวสู่สนามการค้าในระดับนานาชาติได้
ทั้งนี้ ด้วยวิทยากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับจากหลายวงการภายใต้ภารกิจ สร้างผู้ประกอบการไอดอล ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแปรรูป โดยมีไอดอลของวงการธุรกิจด้านอาหารและเกษตรแปรรูปของเมืองไทย อาทิ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งแบรนด์ Wel-B , Tofusan, Grainey,ไร่ไม่จน, Aromatic Farm, และคุณจอน นอน ไร่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มาร่วมเป็นโค้ชให้คำแนะนำแนวทางการพัฒนาธุรกิจ ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ และทำเวิร์กช้อปตลอดการอบรม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาศักยภาพในทุก ๆ ด้าน ตลอดระยะเวลาหลักสูตร 100 วัน ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 63
นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้ปรุงโครงการ หรือบูรณาการร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank และ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM Bank มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจด้วย เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้นักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมไทยสู่การแข่งขันระดับสากล
“ในปี 63 กสอ. ได้งบประมาณกว่า 96 ล้านบาท ในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม และเพิ่มศักยภาพ ยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมในด้านเกษตรแปรรูป โดยมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการ 3,900 ราย 500 กิจการ และ 200 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้ไม่น้อยกว่า 10% รวมถึงการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และมาตรฐาน ให้กับเกษตรอุตสาหกรรมได้ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,300 ล้านบาท”