การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดงานประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ นั้น
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกุล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ฝ่ายกลยุทธ์และแผน(รฟม.) เปิดเผยถึง โครงการระบบขนส่งมวลชน (LRT/Tram) จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 16 กิโลเมตร 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีระดับใต้ดิน 7 สถานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อจัดเตรียมเอกสารโครงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในงานด้านต่างๆ เช่น งานระบบโยธา ระบบไฟฟ้า การเดินรถ งานบำรุงรักษา
ทั้งนี้ภาคเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งจากส่วนกลาง ท้องถิ่น และซับพลายเออร์ โดยผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า โครงการดังกล่าวมีผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIR) ประมาณ 13% รวมถึงรัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้เอกชนบางส่วนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) มีความคุ้มค่า สูงกว่า 12% หลังจากนั้นจะขออนุมัติดำเนินโครงการดังกล่าวและรูปแบบการลงทุนและนำเสนอกระทรวงคมนาคมและบอร์ด PPP ช่วงกลางปี 2563 นี้ คาดว่าสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราวกลางปี 2564 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2565 หลังจากนั้นจะสามารถดำเนินการเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการราว 16,000 คนต่อเที่ยว
“ เราจะใช้โมเดลเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง โดยให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งก่อสร้างและจัดหาระบบเดินรถ ซึ่งเป็นการรับสัมปทาน 30 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 27,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 4,400 ล้านบาท โดยเป็นบริเวณสถานีสี่แยกหนองฮ่อ (ทางหลวงหมายเลข 1366) และทางขึ้น-ลงสถานี โดยส่วนใหญ่เป็นใต้ดิน จำนวน 25 ไร่ และค่าโยธา 15,000 ล้านบาท และค่างานระบบ 5,000 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราค่าโดยสาร ประมาณ 15-30 บาทต่อกิโลเมตร ”
สำหรับแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชน (LRT/Tram) จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ประกอบด้วย สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สี่แยกหนองฮ่อ โพธาราม ข่วงสิงห์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มณีนพรัตน์ ขนส่งช้างเผือก ประตูสวนดอก แยกหายยา แยกท่าอากาศยานนานาชาติ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ บ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหยีะสมานสามัคคี
นอกจากนี้ รฟม. ดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียวจังหวัดนครราชสีมา (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 12 กิโลเมตร วงเงินลงทุน ราว 8,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวจะล่าช้ากว่าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ราว 3 เดือน คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟม.) พิจารณา ในช่วงปลายปี 2563 หลังจากนั้นนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) พิจารณา ราวปลายปี 2564 และเปิดประมูลโครงการดังกล่าวได้ช่วงกลางปี 2565 ในขณะเดียวกันโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง) ระยะทาง 42 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอข้อมูลเข้าคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟม.) พิจารณาภายในวันนี้
อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพลาซ่า) ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงิน 1,566 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟม.) เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. ให้ครม.เห็นชอบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้