ทุนต่างชาติ-ธนาคารจีน-ท้องถิ่น พร้อมร่วมลงทุน “แทรม” เชียงใหม่ ค่า 2.7 หมื่นล้าน หลัง รฟม.เดินหน้าลุยเปิดให้บริการปี 2570 อบจ.-หอการค้า เชื่อการเดินทางสะดวก-ภาค อสังหาฯ โต ขณะแทรมโคราช-พิษณุโลก-ภูเก็ต เร่งศึกษา-ออกแบบเต็มสูบ
นอกจากการลงทุนเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพ มหานครและจังหวัดปริมณฑลแล้ว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังมีแผนขยายระบบขนส่งทางรางครอบคลุมทุกจังหวัดในภูมิภาค รองรับเมืองขยายในอนาคต เป็นสาเหตุให้การขยายถนน มีข้อจำกัดทั้งการเวนคืนและงบประมาณ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนภูมิภาค จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา และภูเก็ต ขณะที่อีก 3 จังหวัดอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และสงขลา สำหรับรูปแบบโครงการขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ นั้นเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน โดยแบ่งเป็นระบบ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี 2.สายสีนํ้าเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกศรีบัวเงินพัฒนา 3.สายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชคมีชัย-ท่าอากาศยานเชียงใหม่
ความคืบหน้าอยู่ระหว่างออกแบบ ศึกษาความเหมาะสมและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาตามแผนเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีประมาณกลางปี 2564 และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางสะดวก รวดเร็วปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้
“ก่อนหน้านี้ รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนเอกชน พบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการและนักธุรกิจท้องถิ่นให้ความสนใจลงทุนโครงการนี้ เบื้องต้นมีกลุ่มธนาคารจากประเทศจีนที่สนใจสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศภาคเอกชน สนใจที่จะลงทุนในส่วนของซัพพลายเออร์และงานระบบ ส่วนด้านการเดินรถนักธุรกิจท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นสัญญาระยะยาว ซึ่งคล้ายกับการเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ”
นายสมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องค์การ บริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนถึงแผนลงทุนระบบขนส่งทางรางในจังหวัดว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเชียงใหม่ประสบปัญหาด้านการจราจรหนาแน่นทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว มีรายได้ไม่ตํ่ากว่า 20 ล้านบาทต่อปี หากมีรถแทรมเข้ามาพัฒนาด้านขนส่งมวลชนสาธารณะ จะช่วยให้การเดินทางสำหรับประชาชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่มีความสะดวกมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
นายสมชาย เอื้อวงษ์ชัย กรรมการเลขาธิการหอการค้าเชียงใหม่ กล่าวว่า หากโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่จะสมบูรณ์ได้ทั้งระบบนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งรัดโครงการดังกล่าวทั้ง 3 เส้นทางสามารถเดินหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเดียวกันทำให้ราคาที่ดินของภาคอสังหาฯ ปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังจากที่ซบเซาในช่วงที่ผ่านมา
หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19-21 มีนาคม พ.ศ. 2563