สหภาพฯ "การบินไทย” โวย คลัง หลัง "การบินไทย" พ้น รสก.

25 พ.ค. 2563 | 04:21 น.

“สหภาพฯ บินไทย” เผย การบินไทยเตรียมปรับลดเงินเดือนพนักงานเพิ่ม 1 เดือน หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ โต้คมนาคมไม่มีสิทธิ์คุมแผนฟื้นฟูบินไทย

นายนเรศ  ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือ สร.กบท.เปิดเผยถึงการปรับลดเงินเดือนพนักงานว่า ขณะนี้ฝ่ายบริการของบริการของบริษัทฯ  มีการยกเลิกการนัดหารือเกี่ยวกับการปรับลดเงินเดือนพนักงานในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้  เนื่องจากกองทุนวายุภักษ์ดำเนินการซื้อหุ้นจากกระทรวงการคลังไป 3.17% ส่งผลให้การบินไทยพ้นสหภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และทำให้สหภาพฯ ถูกยุบไปโดยอัตโนมัติ  

 

สำหรับการปรับลดเงินเดือนครั้งนี้จะเป็นการลดเพิ่มเติมอีก 1 เดือน ภายในเดือนมิถุนายน 63 จากเดิมเดือนพฤษภาคม 63 ที่มีการปรับลดเงินเดือนไปแล้ว  โดยพนักงานแต่ละคนจะถูกปรับลดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเดือน เช่น  เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ปรับลด 10% เงินเดือนระหว่าง 20,000-40,000 บาท ปรับลด 25% เงินเดือนระหว่าง 40,000-60,000 บาท ปรับลด 30% เงินเดือน 60,000-100,000 บาท ปรับลด 40% และเงินเดือน 1 แสนบาทขึ้นไป ปรับลด 50%

ตอนแรกหากมีการไปเจรจาเพื่อลดเงินเดือนแล้วเกิดให้ปรับลดจริงก็จะส่งผลกระทบเงินเดือนของพนักงานด้วย ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงตอนลาออกจากบริษัท เพราะจะใช้เงินเดือนสุดท้ายในการคำนวณ ดังนั้นที่ทำครั้งที่แล้ว คือ ให้พนักทำหนังสือยินยอมไปยังบริษัทโดยตรง ใครทำก็เสียสิทธิ์ไปตลอด เพราะในมุมมองสหภาพฯ จะไม่ดำเนินการอะไรที่สุ่มเสี่ยงหรือหมิ่นแหม่ เสียสิทธิ์ลดลงจากเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเอกสารที่ยื่นไปจะหมดอายุในเดือนพฤษภาคมนี้  หากใครจะให้หักต่อในเดือนมิถุนายนก็ยื่นเอกสารใหม่

 

ขณะเดียวกันการปรับลดพนักงานนั้น เดิมบริษัททำแผนฟื้นฟู โดยลดจำนวนพนักงานราว  10,000 คน ไม่ใช่ตัวเลข 6,000 คน เหมือนปัจจุบัน  ขณะนี้สหภาพฯ ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นยังไง รวมถึงคณะกรรมการ(บอร์ด)เองก็ไม่รู้อนาคตตัวเอง เพราะเมื่อลดหุ้นแล้ว ตามกฎหมายก็ถูกยุบไปด้วย และกระทรวงคมนาคมก็ต้องยุบบทบาทตัวเองด้วย เพราะการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ

นายนเรศ  กล่าวต่อว่า  ตามกฎหมาย เมื่อลดสัดส่วนหุ้นแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การบินไทยต้องยื่นแผนฟื้นฟูที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไปยังศาล แล้วศาลก็เรียกเจ้านี้ ลูกหนี้มาเจรจากัน ทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในตอนนี้คือเจ้าหนี้ โยศาลต้องเรียกเจ้าหนี้มาคุยว่ายอมให้ฟื้นฟูไหม ไม่ใช่กระทรวงคมนาคมมาสั่ง  ถ้าศาลไม่รับฟื้นฟูก็ล้มละลาย เจ้าหนี้จะเอาไหม ถ้าเอาก็เดินหน้า

 

ทั้งนี้เมื่อการบินไทยเป็นเอกชนแล้ว กระทรวงคมนาคมก็หมดอำนาจควบคุมแล้ว อำนาจก็ตกไปอยู่ที่กระทรวงการคลังแทน ไม่ใช่คมนาคมเป็นคนที่มากำหนดแผนฟื้นฟู ต้องเป็นกระทรวงการคลัง ส่วนเรื่องที่กระทรวงคมนาคมที่เสนอลดพนักงาน 6,000 คนนั้น ที่จริงไม่ต้องทำอะไร ต้องถามเจ้าหนี้มากกว่าว่าจะยอมหรือไม่ ศาลจะรับหรือไม่ก็ยังไม่รู้ หากรับอำนาจเต็มอยู่ที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟู ที่จะสั่งการว่าจะให้ลดพนักงานอย่างไร ที่เสนอคนนั้นคนนี้เป็นบอร์ด หรือผู้บริหารเป็นอำนาจศาลจะพิจารณา ไม่ใช่กระทรวงคมนาคม

 

สิ่งที่ทำกับการบินไทยมากๆนี่แหล่ะจะทำให้การบินไทยล้มละลาย ในเมื่อจะไปศาลแล้วก็ต้องปล่อยให้ศาลพิจารณา เพราะการเมืองทำให้เกิดความวุ่นวายมาสั่งการ ตั้งบอร์ด ฝ่ายบริหารมาสร้างหนี้ ซื้อเครื่องบิน ถ้าวันนี้ยุบสหภาพฯแล้ว ตัดการเมืองออกไป การบินไทยมีกำไรไม่เกิน 2 ปีแน่นอน