ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรื่อง สนับสนุนนโยบายเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี มีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ เพื่อเชื่อมโยงมิติ การแก้ไขปัญหาความมั่นคง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการพัฒนาในทุกมิติ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
โดยให้มีโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งในพื้นที่อําเภอ เบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และอําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จนมาสู่เมืองที่ 4 อําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่จะพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
โดยมีกรอบการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำด้วยการพัฒนาท่าเรือเชิงพาณิชย์ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการสร้างโรงไฟฟ้า ที่สามารถดูแลระบบความมั่นคงทางพลังงานให้อนุภูมิภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรม ผ่านสวนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการทําสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเป็นโจทย์สําคัญของการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ นั้น ในนามของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความยินดีและให้การสนับสนุนการพัฒนาในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้จากปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแนวโน้มตกต่ำลดลง อย่างเห็นได้ชัดทําให้เกิดปัญหาการว่างงานการอพยพย้ายถิ่นฐานแรงงานข้ามชาติ ปัญหาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหางานและอาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่เท่าเทียมกับภูมิภาคอื่น ของประเทศไทย ทั้งที่จังหวัดสงขลา เคยเป็นเมืองศูนย์กลางการพัฒนาในอนุภูมิภาคแห่งนี้ โดยเชื่อมั่นว่าการพัฒนาดังกล่าวจะนําไปสู่การพัฒนา ที่เชื่อมโยงคุณภาพชีวิตสังคมสาธารณสุขพหุสังคม และความร่วมมืออย่างแข็งขันของประชาชนในการปกป้องดูแลรักษาพื้นที่ตามกรอบแนวทางรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนในฐานะเจ้าของพื้นที่ร่วมดูแล และปกป้องความมั่นคงในพื้นที่ด้วยตัวเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างให้จังหวัดสงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเท่าเทียมกับประเทศมาเลเซีย และกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของประเทศในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าว จําเป็นจะต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนรัฐประชาสังคม ภาควิชาการและประชาชนเท่านั้น จําเป็นจะต้องร่วมมือวางแผนการทํางานร่วมกันในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิดและรอบคอบสมบูรณ์ ตามความต้องการของทุกภาคส่วน ซึ่งรับทราบว่าจะดําเนินการในระยะต่อไปอยู่แล้ว ก็ขอให้ดําเนินการไปตามที่กําหนด เพื่อให้ประโยชน์เกิดต่อประชาชนและประเทศชาติโดยสูงสุดต่อไป