คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการจัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานมาร่วมแสดงความคิดเห็นมากมาย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในการอภิปรายภายใต้หัวข้อ “ภาพรวมสถานการร์พลังงานของประเทศไทย” ว่า สำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ประเมินว่าการใช้พลังงานของโลกปี 2563 จะลดลงมากที่สุดในรอบ 70 ปี จากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” (Covid-19)ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้พลังงานให้ลดลง
ทั้งนี้ แม้ว่าราคาและปริมาณความต้องการใช้ล่าสุดจะขยับขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ แต่ความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ก็ทำให้ไออีเอ ประเมินว่าการใช้น้ำมันจะยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติปีนี้ และการใช้ไฟฟ้าของโลกก็หดตตัว 5% โดยถือว่ามากที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2473 (Great Depression 1930S)
ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยก็ลดลงอย่างหนักเช่นกัน โดยช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ มีการใช้น้ำมันลดลง 13.4% การใช้ไฟฟ้าลดลง 3.8% ซึ่งกระทรวงฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ความต้องการใช้พลังงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากมีการระบาดรอบ 2 จะเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะเตรียมพร้อมสำหรับปรับแผนพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปีฉบับใหม่ (ร่างแผนพีดีพี 2021) ก็คงจะต้องปรับไตรมาส 1/2564
"ขณะนี้กำลังติดตามว่ากรณีที่จังหวัดระยองซึ่งมีการปิดสถานที่ต่าง ๆ อีกรอบ จากกรณีที่ทหารอียิปต์ติดเชื้อโควิด-19 และไม่ยอมกักตัวจะกระทบภาพรวมของประเทศมากน้อยแค่ไหน โดย บมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) มีแผนหนุนการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนการใช้พลังงานที่ลดลงก็จะนำมาสู่การทบทวนแผนพีดีพีฉบับใหม่และอีก 4 แผนพลังงานหลักของประเทศในไตรมาส 1 ปีหน้า"
อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานหลายด้านเพื่อลดผลกระทบโควิด-19 เช่น การลดราคาเชื้อเพลิง การคืนเงินประกันไฟฟ้า การเร่งก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงการสนับสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วน กฟผ. ปตท.ลงทุนปี 2563-2565 รวม 1.1 ล้านบาท
นอกจากนี้ในงานสัมมนายังมีการอภิปรายเรื่อง “ทิศทางไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพลังงาน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ “สนพ.” กล่าวว่า ยอดใช้พลังงานลดลงแน่นอนตามตัวเลขประมาณการณ์จีดีพีของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ลดลงประมาณกว่า 5% ซึ่งจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ราคาพลังงานลดลง ทั้งแอลเอ็นจี (ก๊าซธรรมชาติเหลว) และราคาก๊าซอ่าวไทย/เมียนมา ส่วนนี้จะมีผลดีทำให้ราคาก๊าซเฉลี่ยผลิตไฟฟ้าลดลงในรอบ4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ลดผลกระทบจากต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากยอดใช้ที่ลดลง
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงทำให้สำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% โดยตัวเลขการเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าก็ลดลง ทำให้ต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานร่วมแก้ไขส่วนนี้ทั้งส่งเสริมการส่งออกไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้านการส่งเสริมพลังงานทดทน โดย กฟผ.จะมีการลงทุนสายส่งรองรับส่วนนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชน ทั้งการส่งเสริมห้องเย็นเก็บผลไม้ โดยจะค่าไฟฟ้าราคาพิเศษ รวมทั้งแผนปลดโรงไฟฟ้าเก่าอีกด้วย
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.กล่าวว่า ในส่วนของความต้องการก๊าซลดลง 7-8% ในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งการที่ ปตท.เตรียมนำเข้าแอลเอ็นจีราคาตลาดจร (Spot) ปีนี้ 11 ลำ คาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะลดลงกว่า 3,000 ล้านบาท หรือ 1.50 สตางค์ต่อหน่วย จากที่ขณะนี้นำเข้ามาแล้ว 7 ลำ โดย 5 ลำแรก ราคาเฉลี่ย 2.50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ต่ำสุดที่ 1.80 เหรียญ/ล้านบีทียู ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงกว่า 2 พันล้านบาท หรือ 1.04 สตางค์ต่อหน่วย และเพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าก๊าซในภูมิภาคนี้ (LNG HUB) ปตท.ยังวางเป้าหมายจำหน่ายไตรมาส 3/2563
“ปตท.ได้มีการบริหารจัดการก๊าซฯในอ่าวไทย เพื่อไม่ให้เกิดภาระTake or Payแล้วหันไปนำเข้าSpot LNGแทน โดยปตท.ได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทั้ง สนพ. ,กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งปลายปีนี้ กฟผ. และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มีแผนนำเข้าLNG มาป้อนโรงไฟฟ้าด้วย”