‘นภา-ITD’ ซัดกันนัว ชิง "ไฮสปีดไทย-จีน"หมื่นล้าน

21 ต.ค. 2563 | 04:08 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2563 | 11:37 น.

“นภาก่อสร้าง-  ITD” ซัดกันนัว  ประมูลไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 3-1 มูลค่าหมื่นล้านวุ่น  จี้ปมคุณสมบัติผู้ยื่นประมูล        

การประมูลโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนา ระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคกรุงเทพ-หนองคายระยะที่1ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง30กิโลเมตรสู้หนัก เมื่อผลเปิดซองราคา บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด เสนอราคาตํ่าสุด 9.33 พันล้านบาท เฉือนชนะ ยักษ์รับเหมา อย่างบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ( ITD) เพียง 19 ล้านบาท หรือที่ 9.35 พันล้านบาท

 

ขณะที่คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) ที่มีนาย จิรุตม์ วิศาลจิตรอธิบดีกรมการขนส่งทางบกในฐานะประธานกลับมีมติให้ ITD พลิกเป็นฝ่ายชนะประมูล โดยอ้างว่าบริษัท บีพีเอ็นพีตกคุณสมบัติใช้ชื่อบุคคลธรรมดาเป็นสมาชิกเข้าร่วมก่อตั้งบริษัท กิจการร่วมค้า ซึ่งตามข้อเท็จจริงต้องใช้นิติบุคคลด้วยกัน รวมตัวตั้งบริษัทใหม่ซึ่งสวนทางกับคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาโครงการรถไฟไทย-จีน ที่มีนายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่ารฟท.เป็นประธานที่มีมติเอกฉันท์ว่าคุณสมบัติบีพีเอ็นพีถูกต้องตามเงื่อนไข TOR

 

ทั้งนี้หากเทียบกับการประมูล สัญญา 3-4 งานโยธาช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและช่วงกุดจิก-โคกกรวด ประกวดราคาเมื่อปี2562 บริษัท บีพีเอ็นพี ร่วมแข่งขันประมูลงานและเคยอุทธรณ์ มาแล้วครั้งหนึ่ง จากการถูกปรับตกคุณสมบัติ

 

แต่ในที่สุดบอร์ดรฟท.ได้ผ่านความเห็นชอบตามการวินิจฉัย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมบัญชีกลาง ว่าคุณสมบัติถูกต้อง เพียงขณะนั้นบีพีเอ็นพีไม่ได้เป็นผู้ชนะประมูลเท่านั้น ดังนั้ จึงเป็นที่น่าสังเกตุว่า เมื่อบริษัทเดียวกัน ใช้เอกสารหลักฐานชุดเดียวกันยื่นประมูลงานทั้งสองสัญญาแต่เหตุใดสัญญา3-1กลับกลายเป็นปมปัญหา และอาจนำไปสู่การยื่นฟ้องศาลปกครอง

ทั้งนี้แหล่งข่าวจากบริษัท นภา ก่อสร้าง จำกัด ในฐานะพันธมิตรประเทศมาเลเซียและ ถือหุ้นในบริษัท บีพีเอ็นพี ยืนยันว่าบริษัทเป็นผู้ชนะประมูล สัญญา 3-1 แต่ถูกปรับตก คุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ TOR ขณะนี้อยู่ระหว่าง อุทธรณ์ กับคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน ซึ่งมั่นใจว่า คณะกรรมการฯ จะยืนยัน ว่า คุณสมบัติถูกต้องเหมือนกับ สัญญา 3-4  

 

เนื่องจากมองว่าไม่เป็นธรรม   ซึ่งในบันทึกข้อมูลการเปรียบเทียบการพิจารณาอุทธรณ์มีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนจากบันทึก การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาประมูล อาทิ บีพีเอ็นพีไม่แสดงสำเนาสัญญาการเข้ากิจการร่วมค้า แต่ข้อเท็จจริงได้ยื่นข้อเสนอในรูปแบบกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ เป็นต้น

“บริษัทได้อุทธรณ์ผลประกวดราคาสัญญา 3-4 ซึ่งมี TOR และการยื่นเอกสารรวมถึงคุณสมบัติของผู้เสนอราคารายเดียวกับโครงการนี้ผลคณะกรรมการอุทธรณ์กรมบัญชีกลางระบุชัดว่ามีคุณสมบัติถูกต้อง ตาม TOR ทางรฟท.จะตีตกไม่ได้สัญญา 3-1 ก็เช่นกัน”

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ITD ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลังว่า ITD ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการอุทธรณ์ ทั้งนี้ตามหลักTOR ข้อ3.10 กำหนดว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคา จ้างก่อสร้างวงเงินไม่น้อยกว่า 1.16 พันล้านบาท และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่รฟท.เชื่อถือ”           

 

หากคณะกรรมการอุทธรณ์จะพิจารณาสถานะของบีพีเอ็นพี ยื่นข้อเสนอในรูปแบบกิจการร่วมค้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ก็จะเกิดปัญหาในการพิจารณาสถานะของผู้ยื่นอุทธรณ์ ว่าแท้จริงแล้วผู้ยื่นอุทธรณ์ ประสงค์จะยื่นข้อเสนอในรูปแบบนิติ บุคคลรายเดียวหรือในรูปแบบกิจการร่วมค้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ทำให้เกิดปัญหาความลักลั่นในการพิจารณาสถานะของผู้อุทธรณ์และสร้างความไม่เป็นธรรมให้แกผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่ปฎิบัติตามTOR