thansettakij
"โควิด-19" ฉุดรายได้ท่องเที่ยวหยุดยาวสิ้นปีสูญ 5.8 พันล้าน

"โควิด-19" ฉุดรายได้ท่องเที่ยวหยุดยาวสิ้นปีสูญ 5.8 พันล้าน

28 ธ.ค. 2563 | 04:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2563 | 11:48 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินโควิดระลอกใหม่ทำไทยสูญเสียรายได้หยุดยาวสิ้นปี 5,850 ล้านบาท เผยผลสำรวจคนกรุงเทพ กว่า 54.8% ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด พบกว่า 40.7% เป็นการยกเลิกหรือเลื่อน   

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ คาดว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว 4 วัน (ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.63-3 ม.ค.64) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,850 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่สูญเสียไปประมาณ 58.4% ของรายได้ไทยเที่ยวไทยในช่วงเวลาปกติ 4 วัน ที่ไม่ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 
         

ทั้งนี้ ภายหลังจากการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากใน จ.สมุทรสาคร และเพิ่มมากขึ้นในอีกหลายจังหวัด ส่งผลทำให้ทางการในหลายจังหวัดมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.63 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ออกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้แก่ 1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ซึ่งขณะนี้มีเพียง 1 จังหวัด คือ จ.สมุทรสาคร 2.พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) และ 4.พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ซึ่งในแต่ละพื้นที่ควบคุมทางการจะมีระดับของมาตรการที่ต่างกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมงานเทศกาลเคาน์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564
         

เหตุการณ์ดังกล่าว นับเป็นข่าวร้ายต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยที่กำลังอยู่ในระยะของการเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วงจังหวะเวลาที่กำลังจะเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญของการท่องเที่ยว เนื่องจากคนไทยส่วนหนึ่งมีแผนที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางกลับบ้านและมีการท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่วางแผนท่องเที่ยวพักค้างและเดินทางไปแบบเช้า/เย็นกลับ แต่จากการที่พบผู้ติดเชื้อกระจายไปในหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวมีการปรับแผนการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้ 
         

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.63-3 ธ.ค.64) ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นฐานตลาดขนาดใหญ่ของตลาดไทยเที่ยวไทย ระหว่างวันที่ 12 ธ.ค.-23 ธ.ค.63 เพื่อสะท้อนภาพมุมมองของคนไทยในภาวะที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ต่อแผนการเดินทางท่องเที่ยว พบว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้จะแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะเมื่อโรคโควิด-19 ได้กลับมาเยือนอีกครั้ง
         

แม้ทางการจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย โดยจากผลสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ กว่า 54.8% ไม่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2664 โดยกว่า 40.7% เป็นการยกเลิกหรือเลื่อนแผนการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ได้วางแผนไว้ก่อนหน้า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่เหตุผลอื่นๆ อาทิ กลุ่มตัวอย่างเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวก่อนหน้านี้แล้ว หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่แต่มีแผนที่จะท่องเที่ยวหลังปีใหม่ และปัจจัยเศรษฐกิจในครัวเรือน เป็นต้น
         

ขณะเดียวกัน คนกรุงเทพฯ ประมาณ 30.9% ยังมีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโควิดในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากหลังวันที่ 23 ธ.ค.63 จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวจริงของผู้ตอบแบบสอบถาม สำหรับผู้ที่มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด จะมีทั้งการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวแบบพักค้างคืน และการเดินทางไปเช้า-เย็นกลับ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มตัวอย่างที่ยังมีแผนเดินทางไปต่างจังหวัดมองว่าจังหวัดที่จะไปไม่พบการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และมีแผนจะเดินทางแต่อาจปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดที่จะไป
         

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างกว่า 14.3% ยังมีความไม่แน่ใจ เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์ของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของทางการ
         

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงเวลานี้ภาคการท่องเที่ยวคงจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข่าวการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ในขณะเดียวกันพื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อในอัตราที่ต่ำ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ของผู้ประกอบการ คือ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ประกอบการ อาทิ เว็บไซต์ หรือช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกค้าที่จะมาใช้บริการหรือมีแผนที่จะเดินทางในช่วงนี้ และป้องกันการเกิดข่าวลืออันจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
         

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการคงจะต้องเตรียมแผนรองรับการปรับเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามพัฒนการการระบาดของโควิด-19 ในระยะนี้
         

อย่างไรก็ดี จากการที่ทางการได้มีการออกมาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมดูแลการระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัด และหากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือนต่อจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมของตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1/64

 

 

อ่านต้นฉบับที่นี่