นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย นำทีมผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยงยุทธ เลารุจิราลัย Young Smart Farmer เจ้าของสวน The FIGnature ร่วมเสวนาหัวข้อ “ทางรอดปลอดภัย สู่เกษตรวิถีใหม่ที่ยั่งยืน” ในงานสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564: เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ โดยในงานได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนกล่าวเปิดงาน และ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกมาแสดงปาฐกถาพิเศษ
นายปริญญ์ กล่าวว่า ปัญหาของการทำเกษตรกรรมรูปแบบเดิมที่ไม่รู้ต้นทุนและไม่คำนึงถึงตลาดทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้น้อย ขาดทุน และมีภาระหนี้สิน เกษตรกรหลายคนไม่ได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการหาตลาดก่อนจะผลิตสินค้า แต่เลือกที่จะผลิตออกมาก่อนแล้วค่อยหาช่องทางการตลาด ซึ่งปัจจุบันอาจจะยังพออดทนและสู้ต่อได้ แต่ในอนาคตที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะทำให้อยู่ไม่ได้ ดังนั้นควรต้องปรับตัวเข้าสู่การเกษตรวิถีใหม่ ด้วยการใช้ “ข้อมูล” อันเป็นสิ่งสำคัญในยุค 4.0 มาพิจารณาว่าสินค้าใดที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของตลาด เพื่อให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันกับผู้อื่นได้ โดยจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน อาทิ
การทำข้อมูลให้สมบูรณ์ (Data cleansing) เนื่องจากภาครัฐและเอกชนมีข้อมูลอยู่จำนวนมาก แต่ยังขาดการตรวจสอบแก้ไข คัดเลือกข้อมูล ปรับปรุง และการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อข้อมูลมีความสมบูรณ์ ก็จะช่วยให้การนำข้อมูลไปใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่กระทรวงพาณิชย์นำระบบบล็อกเชน (Blockchain) TraceThai.com มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร (Traceability) หากกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์นำบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการข้อมูลส่วนกลางที่กำลังทำร่วมกันตอนนี้ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของข้อมูลและการนำไปใช้มีความสะดวก ปลอดภัย และแม่นยำมากขึ้น
ขับเคลื่อนนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ของท่านรองนายกฯจุรินทร์ กระตุ้นให้เกิดยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต เพื่อช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชได้ตรงกับความต้องการของตลาด มีตลาดรองรับ และรู้ถึงต้นทุนในการผลิตที่ต้องใช้ ทั้งแรงงานคนและที่ดิน รวมถึงสามารถคำนวณความคุ้มค่าในอนาคตได้
ผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ การทำเกษตรวิถีใหม่ ควรผสมผสานระหว่างองค์ความรู้เดิมอย่างปราชญ์ชาวบ้านที่มีอยู่แล้วเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อทำให้สิ่งที่มีดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้นไปอีก ประกอบกับใช้ความรู้และข้อมูลจากบุคคลที่มีความสามารถอย่างภาครัฐและเอกชน มาช่วยส่งเสริมและต่อยอดไปสู่ตลาดระดับภูมิภาคและตลาดโลก ด้วยเทคนิคการทำตลาดยุคใหม่ ที่มีทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ (Omni Channels)
กระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตรได้ให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างรายได้ไปพร้อม ๆ กับการลดต้นทุนการผลิต พยายามหาอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นมาพัฒนาควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์ตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หรือโฟกัสนิช มาร์เก็ต (Niche Market) เช่น การจัดสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องและเป็นธรรม ผ่านการสร้างมาตรฐานใหม่ให้ “สหกรณ์” องค์กรที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจชุมชน อันมีองค์ความรู้ทางการเงินเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งสหกรณ์ที่มีคุณภาพ จะทำให้เกษตรกรเข้มแข็งได้ในระยะยาว
มีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการแข่งขันทางการค้า หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน จะทำให้เราสู้ได้ เช่น อาจไม่ต้องแข่งขันในเรื่องปริมาณการผลิต แต่เลือกที่จะแข่งขันกันด้วยคุณภาพของสินค้า หรือกำหนดการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ชัดเจน เช่น การประกันราคาผลผลิต ฯลฯ แม้บางครั้งสิ่งที่ถูกต้องอาจสวนทางกับความรู้สึกของเกษตรกรที่อยากให้เป็น แต่ในอนาคตเราต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรได้บ้าง ส่วนเรื่องของคนเกษตรกรรุ่นใหม่ เราต้องให้การสนับสนุนพวกเขา ซึ่งไม่เพียงแต่คนที่อายุน้อยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่เปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย เพื่อให้ Young Smart Farmer เป็นกำลังหลักในการกระจายองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปยังกลุ่มคนในชุมชนที่ยังเป็นเกษตรกรตามวิถีดั้งเดิม โดยมีภาครัฐทำหน้าที่เป็นแค่โค้ชในการให้คำแนะนำ
“การก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่สิ่งสำคัญคือ ‘คน’ ที่ต้องปรับความคิด และปรับตัวจากวิถีเดิมไปสู่วิถีใหม่ ซึ่งเกษตรกรหลายคนอาจไม่ได้ปรับตัวกันง่าย ๆ เพราะต่างคนต่างมีทางเลือกและองค์ความรู้แตกต่างกันไป บางคนอาจมีองค์ความรู้อยู่แล้ว บางคนเลือกที่จะเรียนทางลัด สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว หรือบางคนเข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐได้ไวกว่า ทั้งหมดนี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างองค์ความรู้และกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการทำงานของเกษตรกร รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาเกษตรกรรมในพื้นที่บ้านเกิด แม้การบูรณาการเป็นสิ่งที่ยาก แต่ต้องทำให้ได้ เพราะโลกปัจจุบันมีความท้าทายมาจากหลายมิติ การแข่งขันก็มาจากหลายมิติเช่นเดียวกัน” นายปริญญ์ กล่าวทิ้งท้าย