วันนี้ (4 ก.พ. 64) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าติดตามความก้าวหน้าการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี เพื่อรับมือภัยแล้งปี’64 ในพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมติดตามความก้าวหน้าการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำบางปะกงและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมถึงความก้าวหน้าโครงการเร่งด่วนในการป้องกันผลกระทบจากสถานการณ์แล้งและเก็บกักน้ำฤดูฝน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ กล่าวว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและได้มอบหมายให้ สทนช.เร่งรัดติดตามแผนงานโครงการต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงการบูรณการความร่วมมือกับภาครัฐด้านมาตรการประหยัดน้ำในทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และติดตามแนวโน้มความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปีนี้ของภาคตะวันออกขณะนี้ พบว่า มีปริมาณน้ำรวม 1,928 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 62% ของปริมาณน้ำทั้งหมดในภาคตะวันออก หรือคิดเป็นน้ำใช้การได้ 1,777 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำมากกว่า 303 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สถานการณ์ปีนี้ไม่น่ากังวลเนื่องจากมาตรการบริหารจัดการน้ำของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ผ่านมา ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ในหลากหลายมาตรการที่ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการร่วมกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับมีโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนปี’63 รวมทั้งสิ้น 1,451 แห่ง ดำเนินการโดย 10 หน่วยงาน มีความก้าวหน้ากว่า 90% ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนมีนาคมนี้ เช่น ขุดบ่อบาดาล การขุดลอกเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำเดิม ซ่อมแซมระบบประปา ที่ช่วยเติมเต็มให้กับชุมชนที่เข้าถึงแหล่งน้ำได้ครอบคลุมมากขึ้น
ประกอบกับการเร่งดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิม เช่นที่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ แหล่งน้ำต้นทุนสำคัญในระบบโครงข่ายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริจัดสร้างเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในปีที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับจัดสรรงบกลางเร่งด่วน (มติ ครม.17 มี.ค.63) เพื่อดำเนินการขุดลอกคลองหลวง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ไปช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ในการสนับสนุนการอุปโภค – บริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤติภัยแล้งในปีที่ผ่านมาได้ ซึ่งมีแผนที่จะสนับสนุนน้ำอย่างต่อเนื่องในปีนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มระดับเก็บกัก ทำให้การใช้น้ำมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น โดยติดตั้งฝายพับได้สูง 1 เมตร ตลอดความยาวสันฝายของอาคารระบายน้ำล้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 27 ล้าน ลบ.ม. รวมเก็บน้ำได้ 125 ล้าน ลบ.ม. ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานเป็น 70,000 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. วางแผนการดำเนินงานในเชิงป้องกันโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำแล้วเพื่อสร้างความมั่นคงน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะยาว มีแผนขับเคลื่อนตั้งแต่ ปี 2563 -2580 รวม 38 โครงการ ซึ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในพื้นที่แหล่งน้ำนอกลุ่มน้ำ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล รวมถึงพัฒนาน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยคำนึงถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศมาใช้ในการพัฒนาโครงการด้วย
ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 โครงการ ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 46.47 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ 13 โครงการ จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 คิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอีก 216.32 ล้าน ลบ.ม. สำหรับโครงการที่เหลือเป็นแผนการดำเนินการในระยะต่อไป นอกจากนั้น สทนช.ในฐานะตัวแทนประเทศไทยยังมีความร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) และกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (MoE)
ในการดำเนินการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ในรูปแบบการหารือระดับประเทศด้านน้ำในประเทศไทย โดยเน้นด้านการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในพื้นที่ EEC นี้ สทนช. ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อจัดระบบเส้นทางน้ำหรือผังน้ำ ซึ่งเป็นอีกภารกิจสำคัญที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
สทนช.ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยดำเนินการคัดเลือกลุ่มน้ำบางปะกงขึ้นมาศึกษาเป็นลำดับแรก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ซึ่งต้องมีการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับทุกลุ่มผู้ใช้น้ำ และเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ต้องมีการควบคุมภาพน้ำเพื่อช่วยประหยัดปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนที่ใช้สำหรับผลักดันน้ำเค็ม ปัจจุบันได้มีการสำรวจภาพตัดลำน้ำ และวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อหาพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นระยะ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
“ผังน้ำที่จะได้รับจากการศึกษาครั้งนี้ จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝน โดยการประเมินศักยภาพของลำน้ำ การเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำและทิศทางการไหลของน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชน ส่วนในฤดูแล้งก็สามารถประเมินปริมาณน้ำที่จะเก็บกักไว้แหล่งน้ำต่างๆ ให้บริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพต่อไป”
โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินจากผังน้ำมาสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง ตามที่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ นอกจากนั้นยังสามารถนำข้อมูลจากผังน้ำมาใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย” เลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย