กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งดันไทยศูนย์กลางแปรรูปกัญชงอาเซียนใน 5 ปี

05 มี.ค. 2564 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2564 | 10:55 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งดันไทยศูนย์กลางแปรรูปกัญชงอาเซียนใน 5 ปี เร่งดันผู้ประกอบการแปรรูปกัญชงสู่พาณิชย์รองรับ BCG Model

นายสุชาติ  ไตรแสงรุจิระ  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยผ่านการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ของกระทรวงอุตสาหกรรม” ในงานการประชุมสร้างความร่วมมือ เรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงสู่เชิงพาณิชย์” ภายใต้ “โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชง เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ว่า เพื่อสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานพืชกัญชง ทบทวนและพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีการแปรรูปพืชกัญชง และการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น

อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นด้ายกัญชง ผลิตภัณฑ์คอมโพสิต และอาหารสัตว์ พร้อมทั้งเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการยกระดับเทคโนโลยีการแปรรูปและนำทุกส่วนของพืชกัญชงมาแปรรูปเป็นสินค้ากึ่งวัตถุดิบสำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยได้รับการตอบรับจากทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในงาน และประชุมผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ พืชกัญชงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมากเห็นได้จากมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมกัญชงทั่วโลกในปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 4,410 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 16.21% ต่อปี โดยคาดว่าภายใน 7 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะมีมูลค่ากว่า 14,670 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สามารถนำส่วนต่างๆ ของกัญชงไปใช้แปรรูปได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ วัสดุคอมโพสิต พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ตลอดจนการนำเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาใช้เพื่อการบริโภค

เดินหน้าดันผู้ประกอบการแปรรูปกัญชงสู่พาณิชย์

โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป สำหรับมูลค่าตลาดทั่วโลกของสารสกัด CBD ที่มีฤทธิ์ระงับประสาท ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และบรรเทาอาการเจ็บป่วย รวมทั้งคุณประโยชน์ที่หลากหลายของ CBD เมื่ออยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร ซึ่งในปี 2562 มีมูลค่า 553.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 33.5% ต่อปี

และคาดว่าภายใน 7 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะมีมูลค่ากว่า 4,268.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการเปิดกว้างโดยการปลดล็อคทางกฎหมายทั้งด้านการผลิตและการจำหน่ายที่มีมากขึ้นในประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทยกัญชงได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นช่อดอกที่ยังเป็นยาเสพติด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 หากประชาชนหรือผู้ประกอบการสนใจผลิตหรือนำเข้ากัญชงจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉพาะกลุ่มและวัตถุประสงค์ที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีบทบาทต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมในระดับสูง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการมีความพร้อมด้านการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนต่าง ๆ ของกัญชง ประกอบกับมีพื้นที่ว่างทางการเกษตรที่สามารถเพาะปลูกกัญชงได้ รวมทั้งกฎหมายได้เปิดกว้างให้ภาคธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.ได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำเพื่อให้เกิดการพัฒนาพืชกัญชงอย่างครบวงจร จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากต้นกัญชง ได้ครบทุกส่วน ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาเมล็ดเพื่อใช้เป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Healthy Food/Drink) แกนแห้งนำไปใช้ทำพื้นรองเท้าและยางคอมปาวด์เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ยางถอนขนไก่ เปลือกนำไปใช้ทำสิ่งทอเป็นเส้นด้ายกัญชงผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติ Anti Bacteria

และผลิตภัณฑ์คอมโพสิต เช่น กันชนรถยนต์และสเก็ตบอร์ด ใบใช้ประโยชน์ทำเครื่องสำอาง เช่น Skin Care และ Anti-aging ก้านใบและใบนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ อีกทั้งช่อดอกนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบสนองนโยบาย BCG Model ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พร้อมกันนี้ อก. โดย สมอ. ได้เร่งเตรียมความพร้อมในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพืชกัญชง โดยจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการผลิตสินค้ากึ่งวัตถุดิบจากพืชกัญชง จำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ น้ำมันเมล็ดกัญชง น้ำมันกัญชง และสารสกัด CBD จากกัญชงคาดว่าจะทยอยประกาศใช้ภายใน ปี 2564 ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเหล่านี้ อก. คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ก่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานกัญชง และพร้อมเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้ากึ่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากกัญชง เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการแปรรูปกัญชงของอาเซียนภายใน 5 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :