กลายเป็นปัญหาจุกอกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อปมร้อนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังตกอยู่ในวังวน ไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าโดยสาร 65 บาท ตลอดสายที่ยังเป็นข้อถกเถียงว่าอาจสูงเกินไป
จนสร้างภาระให้ประชาชนผู้ใช้บริการโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ที่มีข้อเสนอว่าค่าโดยสารสายสีเขียวตลอดสายควรอยู่ที่ 50บาทขณะการต่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ออกไปอีก 30 ปี แลกภาระหนี้ กว่า 1 แสนล้านบาท มองว่ายังพอมีเวลากว่าจะหมดสัญญาก็ปี 2572 ท่ามกลางดอกเบี้ยเบ่งบาน กทม.ไม่มีรายได้ เพราะกว่า 2 ปีเมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียว ยังไม่เรียกเก็บค่าโดยสารเนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาลต้องการลดภาระประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ปัญหาได้ระเบิดเรื่องมาแดงเมื่อ บีทีเอสซี ประกาศหยุดเดินรถส่วนต่อขยาย ที่กทม.ว่าจ้าง เพราะยังติดค้างค่าจ้าง เกือบ 1 หมื่นล้านบาทเริ่มแบกต้นทุนไม่ไหว ตามด้วย ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้า-เครื่องกล อีก กว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมแล้ว 3 หมื่นล้านบาท พร้อมหนังสือทวงหนี้เส้นตายวันที่ 1 เมษายน 2564 แต่จนกระทั่งปัจจุบันเลยกำหนดเวลามานาน ความเข้มข้นการทวงหนี้จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เป็นรูปแบบการอัดคลิปถึงความเดือดร้อนและเตรียมฟ้องร้องกทม.โดยประชาสัมพันธ์ในโลกโชเซียลและภายในขบวนรถเปรียบเสมือนแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า ว่าในอนาคตหากปัญหายังไม่รับการแก้ไข เงินทุนสำรองไม่พอบีทีเอสซีอาจมีความจำเป็นต้องหยุดเดินรถ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังที่บริษัทฯได้ส่งคลิปชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีกทม. ค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างปรึกษากับทนายความของบริษัทฯ เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกทม. ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า
“เบื้องต้นหากบริษัทจะดำเนินการฟ้องกทม. ต้องพิจารณาก่อนว่าจะฟ้องที่ศาลใดบ้าง ซึ่งมีแนวโน้มที่เราจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองหรือศาลแพ่ง โดยจะเริ่มกระบวนการยื่นฟ้องต่อศาลฯในเร็วๆนี้”
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากบริษัทฯ ได้ทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ล่าสุดทางกทม. ยังไม่ได้นัดเจรจาหารือกับทางบริษัทฯ ถึงเรื่องดังกล่าว แต่ทราบข้อมูลว่ากทม.ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร แล้ว หลังจากเลยกำหนดระยะเวลาที่บริษัทฯผ่อนผันให้ภายใน 60 วัน (ช่วงเดือนมีนาคม 2564) ซึ่งเห็นว่าสภากทม. ไม่เห็นชอบให้ดำเนินการใช้งบประมาณของกทม.เพื่อชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัทฯ
“หากในกรณีกทม. ไม่ยอมชำระค่าจ้างเดินรถให้กับบริษัทฯ จะหยุดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่นั้น เรามองว่าไม่อยากให้เป็นแบบนั้น แต่ถ้าถึงจุดที่บริษัทฯไม่มีรายได้เพียงพอก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะการเดินรถมีค่าใช้จ่ายเข้ามาตลอด ส่วนแนวโน้มการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้หรือไม่ เราก็ไม่ทราบแต่คิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้ง 2 ฝ่ายหรือรัฐบาลช่วยอุดหนุนงบเหมือนสายสีนํ้าเงิน”
ขณะเดียวกันกทม.ไม่เคยส่งหนังสือเจรจาขอผ่อนชำระหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบริษัทฯ แต่ล่าสุดกทม. ได้ออกประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) เริ่มต้นที่ 15 บาท ซึ่งนำรายได้จากการเก็บค่าโดยสารในช่วงนี้มาชำระหนี้แก่บริษัทฯ ราว 2-3 ครั้ง ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยทุกครั้งที่ชำระหนี้ทางบริษัทฯ จะเป็นฝ่ายทวงหนี้จ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทุกครั้ง
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีหนังสือแจ้งให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัดและกทม.ชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 จำนวน 9,602 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่ถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 20,768 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากมีหนังสือเตือน จนขณะนี้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมารายงานข่าวจาก บีทีเอสซี ระบุว่ายังไม่ปรากฏว่ากทม.จะดำเนินการแต่อย่างใด ส่งผลให้ บริษัทจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายและตามสัญญา ด้วยการฟ้องร้องต่อศาล
จากปัญหาดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ”ติดต่อไปยังบริษัทกรุงเทพธนาคม ได้คำตอบว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ขึ้นอยู่กับโยบาย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่เพียงผู้เดียว
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564